ผู้ชมทั้งหมด 5,992
“สุริยะ” ให้โอกาสการบินไทยแก้ปัญหาบริการภาคพื้น พร้อมยกเลิกสัญญาหากยังถูกร้องเรียนบริการไม่ได้มาตรฐาน ชี้ปัจจุบันเหลือระยะเวลาสัมปทานประมาณ 12 ปี ด้าน ทอท.คาดเปิดประมูลผู้ให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 เม.ย. 67
เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายเป็นประธานการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการของผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ บริษัทผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น ผู้ประกอบการสายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อร้องเรียนจากนักธุรกิจ และสายการบินว่าไม่ได้รับความสะดวกในการให้บริการภาคพื้น ซึ่งปัจจุบันทสภ.มีผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น จำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท Bangkok Flight Services (BFS) รวมทั้งได้ฟังปัญหาจากทุกฝ่าย รวมทั้งผู้แทนสายการบินที่ใช้บริการภาคพื้นจากการบินไทย ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยพบปัญหาอุปกรณ์ที่นำมาให้บริการไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย รวมทั้งปัญหาด้านบุคลากรมีการลาออกบ่อย และบุคลาการที่เข้ามาปฏิบัติงานแทนไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน
นอกจากนี้ยังมีปัญหา คือ หลุมจอดเครื่องบินที่มีสะพานเทียบอยู่ติดกับอาคารที่พักผู้โดยสาร (Contact Gate) มีจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากการซ่อมในทางขับ (taxiway) เพื่อให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน สำหรับปัญหาหลุมจอดไม่เพียงพอ มีแนวทางการแก้ปัญหาโดยให้สายการบินไปใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 หรืออาคาร SAT-1 ซึ่งสายการบินมีความกังวลเรื่องระบบการจัดการสัมภาระ
ดังนั้นจึงได้มอบให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น หารือร่วมกันถึงแนวทางแก้ปัญหา และพิจารณาหาข้อสรุปในการย้ายไปใช้อาคาร SAT-1 ภายใน 2 สัปดาห์และรายงานให้กระทรวงฯ ทราบต่อไป
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากนี้จะมีการประเมินคุณภาพการให้บริการ บริษัทการบินไทยฯ เป็นรายเดือน ว่ามีการดำเนินการปรับปรุงการให้บริการและแก้ไขปัญหาอย่างไร หากไม่ปรับปรุงการให้บริการภาคพื้นดีขึ้น และกระทรวงฯ ยังได้รับเรื่องร้องเรียนด้านการให้บริการที่ไม่เพียงพอตามความต้องการของสายการบินอื่น อาจมีการยกเลิกสัญญากับการบินไทยได้ ซึ่งปัจจุบันยังเหลือระยะเวลาสัมปทานประมาณ 12 ปี แต่สามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที หากให้บริการไม่ได้ตามมาตรฐาน
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น กรณีที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัท ไม่มีความพร้อมในการให้บริการภาคพื้นได้เพียงพอจะให้บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จํากัด (AOTGA) เข้ามาช่วยดำเนินการ ให้บริการภาคพื้นเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัทก่อน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้าน นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวว่า สำหรับการจัดหาผู้ร่วมลงทุนบริการภาคพื้นรายใหม่ ซึ่งเป็นรายที่ 3 อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายละเอียดและเงื่อนไขการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน เม.ย. 67 จากนั้นน่าจะลงนามในสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลได้ในเดือน ก.ค. 67
ส่วนปัญหาการใช้หลุมจอดเครื่องบินนั้น AOT ต้องการให้ทุกเที่ยวบินได้เข้าใช้งานหลุมจอด โดยไม่ต้องให้ผู้โดยสารนั่งรถเพื่อไปขึ้นเครื่องบิน หรือมายังอาคารผู้โดยสาร (Bus Gate ) ซึ่งเวลานี้มีสายการบินประมาณ 140 เที่ยวบินต่อวัน ที่ใช้ Bus Gate จึงจะหารือให้ไปใช้อาคาร SAT-1 ให้ได้ประมาณ 100 เที่ยวบินต่อวัน โดยอาคาร SAT-1 มีทั้งหมด 28 หลุมจอด มีความพร้อมให้บริการทุกหลุมจอดตลอด 24 ชั่วโมง 100% และมีขีดความสามารถในการรองรับ 400 เที่ยวบินต่อวัน แต่ปัจจุบันให้บริการอยู่ที่ 82 เที่ยวบินต่อวัน หากจะให้บริการเพิ่มขึ้นก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบิน ที่ ทสภ. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ จากประมาณ 800 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 1,000 เที่ยวบินต่อวัน โดยเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลเรื่องวีซ่าฟรีให้กับผู้โดยสารชาวอินเดีย คาซัคสถาน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 ที่ผ่านมา
ด้าน นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมายอมรับว่ามีปัญหาการให้บริการที่ล่าช้าบ้าง แต่บริษัทฯได้พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น ด้วยการสั่งซื้ออุปกรณ์ในการให้บริการเข้ามาเพิ่มแล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บริษัทฯ มั่นใจว่าการให้บริการภาคพื้นแก่สายการบินที่เป็นลูกค้าทุกรายยังเป็นไปอย่างมีคุณภาพ