ผู้ชมทั้งหมด 460
AOT ทบทวนปรับแผนแม่บทสุวรรณภูมิใหม่ระยะ 10 ปี จ่อขยายเทอร์มินอลเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี คาดปี 67 รายได้มากกว่า 7 หมื่นล้านบาท
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีปัญหาปริมาณผู้โดยสารค่อนข้างเยอะมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีประมาณ 450,000 ตารางเมตร ดังนั้น AOT จะทำการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิฉบับใหม่ระยะ 10 ปี (2568 – 2578) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการ คาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษาได้ภายในสิ้นปี 2567 นี้
นายกีรติ กล่าวว่า เบื้องต้นคงต้องทบทวนขีดความสามารถของทสภ.ในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมกำหนดไว้ว่า 4 รันเวย์น่าจะรองรับผู้โดยสารได้ที่ 120 ล้านคนต่อปี แต่ความเป็นจริงน่าจะรองรับผู้โดยสารได้มากกว่านั้น ขณะเดียวกันต้องทบทวนแผนการพัฒนาพื้นที่ของ ทสภ.ใหม่ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมา ทสภ.ปล่อยพื้นที่ 70% รกร้างมานานเกินไปแล้ว จึงต้องทำแผนการพัฒนาให้ชัดเจน
นายกีรติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนของแผนขยายขีดความสามารถ ทสภ.นั้น มีโครงการลงทุนที่ชัดเจนแล้ว คือ อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินประมาณลงทุน 9 พันล้านบาท ซึ่งภายในตัวอาคารจะมีพื้นที่เชคอินและตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงเพิ่มพื้นที่ศูนย์อาหาร สตรีทฟู้ด และการให้บริการอื่นๆ เช่น สปา เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแบบการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน พ.ค.นี้ และเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.ค. 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง น่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2570
นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนทบทวนการพัฒนาส่วนต่อยายอาคารด้านทิศตะวันตก (West Expansion)ให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสถานการณ์ในปัจจุบัน วงเงินลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท รวมถึงแผนการดำเนินการพัฒนาส่วนต่ออาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Expansion) วงเงินลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้สุวรรณภูมิก้าวไปสู่จุดเป้าหมายที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี
นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบัน AOT มีกระแสเงินสดประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท มีศักยภาพเพียงพอที่จะขยายการลงทุน คาดว่าในปี 2567 จะมีรายได้มากกว่า 7 หมื่นล้านบาท และเมื่อหักรายจ่ายแล้วน่าจะเหลือเงินสดในมือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหาในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานในความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่งอย่างแน่นอน