ผู้ชมทั้งหมด 7,220
กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอ ครม. วันที่ 13 ก.พ.นี้ พิจารณาตั้ง “บอร์ด กฟผ.” หลัง คนร. เคาะคุณสมบัติเรียบร้อย ขณะที่ บอร์ด กฟผ. มีวาระด่วน ต้องเร่งพิจารณาแต่งตั้ง ผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ เผย “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ยังตัวเต็ง คาดชัดเจน ก.พ.นี้
การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ได้ครบวาระไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566 จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถแต่งตั้งผู้ว่าฯกฟผ.คนใหม่ขึ้นมาแทนที่ได้นั้น เนื่องจากตามขั้นตอนจะต้องรอการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ดกฟผ.) ชุดใหม่ หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566
โดยตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กำหนดการแต่งตั้งคณะกรรมการ กฟผ.(บอร์ด กฟผ.) ที่จะต้องมีการเปิดรับสมัครคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานจึงได้ดำเนินการเปิดรับสมัครผู้ที่มีคุณสมบัติและมีความสนใจเพื่อจะเข้ามาเป็นบอร์ด กฟผ. และส่งรายชื่อไปยัง คนร.พิจารณาตามกระบวนการ ล่าสุด ช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้ ทาง คนร. ได้ส่งรายชื่อบอร์ด กฟผ. ทั้ง 10 คน มายังกระทรวงพลังงานแล้ว
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงาน คาดว่า จะนำรายชื่อ บอร์ด กฟผ.ทั้ง 10 คน นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า หรือ วันที่ 13 ก.พ.นี้ พิจารณาเห็นชอบได้ จากนั้น เมื่อกระบวนการจัดตั้ง บอร์ด กฟผ.แล้วเสร็จ วาระสำคัญที่ต้องเร่งพิจารณา คือ การแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ โดยบอร์ด กฟผ. จะเชิญ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เข้ามาสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ เนื่องจากบอร์ดชุดที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 ดังนั้น คาดว่า การแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ.จะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้
“หากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็คาดว่า นายเทพรัตน์ จะเป็นผู้ที่ได้รับการพิจารณาอันดับแรกๆ เพราะบอร์ดชุดเดิมได้สรรหาไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แม้ว่าจะเหลืออายุในการดำรงตำแหน่งกว่า 1 ปี เท่านั้น แต่คุณสมบัติดังกล่าวเป็นการนับตั้งแต่วันที่เริ่มสมัครจึงไม่ใช่อุปสรรคในการรับตำแหน่ง”
อย่างไรก็ตาม ภารกิจสำคัญที่ผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ จะต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล เช่น การแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการ รวมถึง การเดินหน้าลงทุนตามแผนของ กฟผ.เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.มีสภาพคล่องในมือที่จะต้องรักษาที่ระดับ 60,000 ล้านบาท แต่ในปี 2566 สภาพคล่องที่ดูว่าสูงถึง 90,000 ล้านนั้น เป็นการนับรวมแผนลงทุนของ กฟผ.อีกราว 30,000 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับรายชื่อที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกผู้ว่าฯ กฟผ. ที่ผ่านมานั้น มีผู้สมัครทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย
1. นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่ EGCO ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่
2. นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง
3. นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน
4. น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
โดยกรรมการสรรหาเมื่อ 27 ก.พ. 2566 ได้หารือและเสียงข้างมากได้เลือก “นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เป็นผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่