ผู้ชมทั้งหมด 681
“สุรพงษ์” ปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” ผลักดันการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทาง การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” ในการประชุมบทเรียนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ของไทยและต่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุม Apex ชั้น 3 โรงแรมไอบิส สไตล์ กรุงเทพฯ รัชดา
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบกับองค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ
โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พฤติกรรมการเดินทางของผู้คน รูปแบบในการทำธุรกิจและความต้องการในการเดินทาง อันเป็นผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายสำคัญเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน เช่น นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับโอกาสสำคัญทั้งลดค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีขึ้น
การปรับปรุงระบบการจองตั๋วรถไฟผ่าน ระบบ d-ticket โดยประชาชนสามารถขยายเวลาจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าได้จากเดิม 30 วัน เพิ่มสูงสุดเป็น 90 วัน พร้อมจัดเสริมขบวนรถพ่วงตู้ให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน และการพัฒนาการให้บริการเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน เช่น การให้บริการ wi-fi ฟรีทั้งในสถานีและในขบวนรถ การพัฒนารถไฟทางไกลชั้น 3 ให้ติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยเท่าเทียมและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่ม
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายบูรณาการระบบขนส่งทางถนน ทางน้ำและทางราง โดยกำหนดหน้าที่การขนส่งให้เมืองใหญ่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและกระจายการเดินทางไปสู่ภูมิภาค โดยใช้ระบบราง รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงเป็นกระดูกสันหลังในการขนส่งผู้โดยสาร และระบบล้อ รถเมล์ EV แท็กซี่ EV สามล้อ EV เป็นระบบ feeder เพื่อลดการสร้างมลพิษทางอากาศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น เพื่อการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ที่ปลอดภัย และเป็นธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎระเบียบ ให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะเพื่อให้ระบบการขนส่งสาธารณะมีความครอบคลุมสอดรับกับความต้องการใช้บริการของประชาชน ภายใต้กลไกและศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักหลักการกระจายอำนาจที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ