PTTEP มั่นใจผลงานปี67 โตตามเป้า เร่งเพิ่มกำลังผลิต “เอราวัณ” หนุนยอดขาย

ผู้ชมทั้งหมด 566 

“ปตท.สผ.” มั่นใจ ผลประกอบการปี 2567 โตตามเป้า ยอดขายปิโตรเลียมแตะ 505,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หลังทุ่มงบลงทุน 230,194 ล้านบาท เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย ลั่น 1 เม.ย.นี้ แหล่งเอราวัณ(G1/61) เพิ่มกำลังผลิตแตะ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลุ้นครึ่งปีแรก ปิดดีล M&A โครงการใหม่เพิ่ม

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัท มั่นใจว่า ผลการดำเนินงานในปี 2567 จะเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะเพิ่มการผลิตปิโตรเลียม อยู่ที่อัตรา 505,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นหลัก ทั้ง แหล่งเอราวัณ(G1/61),แหล่งบงกช (G2/61) และแหล่งอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมทั้ง จะเร่งการสำรวจปิโตรเลียมในไทยและต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานในอนาคต ภายใต้งบลงทุนที่ตั้งไว้ประมาณ 230,194 ล้านบาท (เทียบเท่า 6,721 ล้านดอลลาร์ฯ)

“กำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานในปี 2566 ของบริษัท ที่ระดับ 76,706 ล้านบาทนั้น จะนำมาต่อยอดการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยในปี 2567 ซึ่งตามสัดส่วนวงเงินลงทุนในประเทศจะอยู่ที่ 70% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน”

ทั้งนี้ บริษัท มั่นใจว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. นี้ กำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณ (G1/65) จะแตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) จากปัจจุบันผลิตอยู่ที่ระดับ 400-450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดย บริษัทวางแผนจะเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯ เป็น 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน มี.ค. 2567 และคาดว่าช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ อาจผลิตก๊าซฯ แตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ทันที เนื่องจากมีการเจาะหลุมผลิตใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน ได้ติดตั้งแท่นผลิตฯไปแล้ว 12 แท่น จากเดิมบริษัทรับแท่นผลิตมาจากผู้รับสัมปทานรายเดิม 134 แท่น และมีการเจาะหลุมผลิตใหม่ 300 หลุม จากเดิมมีหลุมเจาะสำรวจแล้ว 689 หลุม

ดังนั้น เพื่อรักษากำลังการผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณ (G1/65)  ให้อยู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องไปอีก 10 ปี ตามเงื่อนไขสัญญา PSC บริษัทคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 900 ล้านดอลลาร์ต่อปี ในการเพิ่มหลุมผลิตใหม่เนื่องจากแต่ละหลุมจะสามารถผลิตก๊าซฯ ได้ประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น    

ส่วนแหล่งบงกช ตามสัญญาPSC จะต้องผลิตก๊าซฯ ให้ได้ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่เนื่องจากแหล่งเอราวัณยังไม่สามารถผลิตก๊าซฯ ได้เต็มจำนวนตามสัญญา ส่งผลให้ บริษัทต้องเร่งผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกชมาทดแทน โดยปัจจุบันแหล่งบงกช ผลิตก๊าซฯได้ 840 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่คาดว่าจะผลิตลดลงเหลือ 750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 1 เม.ย. 2567 หรือในวันที่แหล่งเอราวัณกลับมาผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นอกจากนี้ บริษัท ยังเร่งกำลังผลิตก๊าซฯจากแหล่งอาทิตย์ โดยปัจจุบัน ผลิตอยู่ที่ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมผลิตอยู่ที่ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าแหล่งอาทิตย์ยังมีศักยภาพในการผลิตก๊าซฯอีกมาก และแหล่งนี้จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2581 ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ซื้อก๊าซฯ คือ ปตท. และภาครัฐ เพื่อขอปรับเพิ่มปริมาณซื้อขายก๊าซฯหลัก Global DCQ แหล่งอาทิตย์ จากสัญญาเดิมอยู่ที่ 290 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และยังส่งผลให้ราคาก๊าซฯถัวเฉลี่ยรวม Pool GAS ถูกลงอีกด้วย

สำหรับความคืบหน้า โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก บริษัทได้รับแจ้งจากผู้ดำเนินการว่าจะสามารถเริ่มกลับเข้าไปดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในช่วงไตรมาส 2ปี 2565 และจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เชิงพาณิชย์ครั้งแรกได้ในช่วงปี 2571 โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีสัญญาซื้อขาย LNG ราว 13 ล้านตัน

“บริษัท ยังมองหาโอกาสการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ M&A ในประเทศเป้าหมายที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้ว และคาดหวังว่าในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะเห็นการปิดดีลได้”