ผู้ชมทั้งหมด 334
“สุริยะ” สั่ง AOT ปรับแผนสร้างท่าอากาศยานอันดามัน เป็นอินเตอร์ รองรับผู้โดยสารต่างชาติหลั่งไหลเที่ยวทะเลใต้ วงเงินลงทุน 8 หมื่นล้าน คาดเริ่มสร้างปี 71 เปิดให้บริการปี 74
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ AOT มีแผนลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน ในพื้นที่ จ.พังงา ตามนโยบายเร่งด่วนของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรื่องการท่องเที่ยว และต้องการผลักดันให้ จังหวัด ภูเก็ต – พังงา- กระบี่ และระนอง เป็นศูนย์กลางการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศ เพื่อรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต และการกระจายความเจริญสู่จังหวัดรอบกลุ่มอันดามันนั้น เดิม AOT มีแผนพัฒนาและขยายขีดความสามารถของสนามบินภูเก็ตให้รองรับการให้บริการผู้โดยสาร ทั้งภายในประเทศ (Domestic) และระหว่างประเทศ ( International) แต่ขณะนี้รับทราบจากการสำรวจข้อมูลว่า ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้สนามบินภูเก็ตมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้โดยสารต่างชาติที่นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทะเลภาคใต้ในกลุ่มแถบจังหวัดอันดามัน ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะทำให้สนามบินอันดามันเป็นสนามบินระหว่างประเทศ ส่วนสนามบินภูเก็ตเดิมก็เป็นสนามบิน ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้ AOT ไปปรับแผนการพัฒนาและดำเนินการให้ชัดเจนแล้ว
ด้าน นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวว่า นายสุริยะ รจึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม มีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค จึงมอบให้ AOTเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานต่างๆ ซึ่งท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) เป็นอีกหนึ่งท่าอากาศยานของ AOT ที่มีปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินมาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากข้อมูลเมื่อเดือน ธ.ค.66 พบว่า ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 1.46 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 86% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.62 ซึ่งผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านคน ขณะที่เที่ยวบินอยู่ที่ประมาณ 8,667 เที่ยวบิน คิดเป็นประมาณ 85.31% ของเดือน ธ.ค.62 ที่มีปริมาณเที่ยวบินอยู่ที่ 10,160 เที่ยวบิน ภาพรวมถือว่ากลับมาเกือบใกล้เคียงกับปี 62 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และภายในสนามบินเริ่มหนาแน่นในบางช่วงเวลาแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของระหว่างประเทศ
ขณะนี้ ทภก.มีเพียง 1 ทางวิ่ง(รันเวย์) มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินอยู่ที่ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง(ชม.) ปัจจุบันได้ให้บริการเต็มขีดความสามารถ และไม่สามารถขยายรันเวย์ได้เพิ่มเติมแล้ว เนื่องจากพื้นที่ติดทะเล ด้วยข้อจำกัดนี้แม้ว่า AOT จะมีแผนพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ วงเงินประมาณ 5,800 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 72-73 แต่ก็สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 25 เที่ยวบินต่อชม.เท่าเดิม ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา มากขึ้น
โดย AOT จะปรับแผนการดำเนินงานการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน จากเดิมที่จะให้เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ รองรับทั้งการเดินทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันเนื่องจากพบว่า ปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องปรับแผนให้ท่าอากาศยานอันดามัน เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเฉพาะเที่ยวบิน และผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่จะมีการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศบางเส้นทางที่ทำการบินระหว่างจังหวัด(Point – to – Point) หรือเส้นทางการบินแบบต่อเครื่องบิน (Connecting Flight) ด้วย ส่วนทภก. จะเน้นรองรับเฉพาะเที่ยวบิน และผู้โดยสารภายในประเทศ แต่จะมีให้บริการระหว่างประเทศบางเที่ยวบินบ้าง ซึ่งการปรับพัฒนาดังกล่าวจึงถือเป็นการมิกซ์ยูส ที่จะใช้พื้นที่ภายในสนามบินทั้ง 2 แห่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ทอท. อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)เป็นผู้ ดำเนิน คาดแล้วเสร็จเดือน ส.ค.67 ซึ่งเบื้องต้นที่ AOTเคยศึกษาไว้จะใช้พื้นที่บริเวณ ต.โคกกลอย และ ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ประมาณ 7,300 ไร่ เนื่องจากพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุด รวมถึงแนวร่อนลงของอากาศยานไม่มีภูเขาเป็นอุปสรรคในการลงจอดของเครื่องบิน
นายกีรติ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะใช้วงเงินลงทุนท่าอากาศยานอันดามัน 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น งานเขตการบิน 2.8 หมื่นล้านบาท, งานอาคารผู้โดยสาร 2.5 หมื่นล้านบาท, งานสนับสนุนและสาธารณูปโภค 1.5 หมื่นล้านบาท และสำรองราคาและภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท โดยท่าอากาศยานแห่งนี้จะมี 2 รันเวย์ รองรับผู้โดยสารได้ 22.5 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชม. จะมีการจัดระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานอันดามันด้วย ซึ่งทั้ง 2 แห่งอยู่ห่างกันประมาณ 23.4 กิโลเมตร(กม.) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 26 นาที
ทั้งนี้เมื่อผลการศึกษาฯ แล้วเสร็จ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) AOT, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หากได้รับความเห็นชอบ AOT จะศึกษาออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 71 และน่าเปิดให้บริการได้ประมาณปี 74