ผู้ชมทั้งหมด 4,403
เหมืองแม่เมาะเรียกได้ว่าเป็นแหล่งพลังงานหลักที่สำคัญของประเทศไทยที่ผลิตถ่านหินลิกไนต์ป้อนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามายาวนานกว่า 52 ปี นับจากวันที่ 17 สิงหาคม 2515 ที่ได้เริ่มโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ จำนวน 3 หน่วย ขนาดหย่วยละ 75 เมกะวัตต์ ในปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 2,220 เมกะวัตต์ แต่มีการเดินเครื่องอยู่หน่วยที่ 8-13 กำลังการผลิตหน่วยละ 300 เมกะวัตต์ รวม 1,800 เมกะวัตต์ ในขณะที่ปริมาณถ่านหินลิกไนต์สำรองของเหมืองแม่เมาะสามารถใช้ได้ถึงปี 2592 ตามแผน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยประเทศไทยประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้หลายประเทศมีการลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และมีการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานขึ้นมารองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในอนาคต ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการลงทุนศึกษาวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านพลังงานมาเสริมประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยเทคโนโลยีไฮโดรเจน การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) สำหรับใช้เป็นส่วนผสมถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นแหล่งงานพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศเช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ช่วยประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจมายาวนานโดยเฉพาะการจ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคเหนือตนบน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน และมีแผนขยายระบบส่งไปยังโซนภาคกลางรวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าแม่เมาะยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำไม่ถึง 2 บาทต่อหน่วย ซึ่งในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีราคาแพง โรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงมีส่วนช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
ส่วนปริมาณถ่านหินลิกไนต์สำรองของเหมืองแม่เมาะนั้นสามารถรองรับได้ถึงปี 2592 ซึ่งในระหว่างนี้โรงไฟฟ้าแม่เมาะอาจจะถูกสั่งให้ลดกำลังการผลิต เพื่อลการใช้ถ่านหินลง เนื่องจากประเด็น Carbon Neutrality ดังนั้นกฟผ. ต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยปัจจุบันก็มีการศึกษาวิจัยนำเอาเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) มาผสมกับถ่านหิน 2% เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสามารถเพิ่มสัดส่วนเป็น 5% ได้โดยไม่ต้องปรับปรุงเตาเผา ซึ่งที่ผ่านมากฟผ.ทดลองใช้ Wood Pellet ในการผสมกับถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแล้วกว่า 3,000 ตัน
อย่างไรก็ตามกฟผ.วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน Wood Pellet เป็น 15% ในปี 2026 ผสมกับถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะต้องดำเนินปรับปรุงเตาเผา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเผามากขึ้น คาดว่าต้องใช้ Wood Pellet ประมาณ 2 แสนตันต่อปี โครงการนี้นอกจากช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้วยังเป็นการช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกไม้โตเร็วอีกด้วย โดยการเข้าไปส่งเสริมการปลูกของกฟผ.
อย่างไรก็ตามการปลูกไม้โตเร็วที่จะนำมาผลิตเป็น Wood Pellet นั้นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก การหาพื้นที่ปลูกต้องไม่ไปแย่งกับพื้นที่ปลูกพืชอาหารหรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ และหากสามารถการันตีเรื่องวัตถุดิบที่เพียงพอ ไม่ไปตัดไม้ทำลายป่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต้องไม่เกิน 2.20 -2.50 บาทต่อหน่วย การนำเอาชีวมวลมาผลิตเป็น Wood Pellet เป็นส่วนผสมกับถ่านหินนั้นกฟผ.ก็จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหิน
นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่าในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ. ยังได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำที่มีปริมาณแคลเซียมออกไซด์สูงร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าระบบผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ใช้ในปัจจุบันกว่าเท่าตัว ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization & Storage : CCUS) ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
โดยโครงการดั่งกล่าว กฟผ.ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขณะนี้ขั้นตอนการศึกษาวิจัยอยู่ในระยะที่ 3 คาดว่าจะสามารถผลิตเป็นต้นแบบได้ในปี 2568 เพื่อผลิตไฮโดรเจนที่เรียกว่า Brown Hydrogen โดย ไฮโดรเจนที่ได้สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงส่วนผสมถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า และสามารถนำไปผลิตเป็น แอมโมเนียต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้เหมืองแม่เมาะนั้นมีถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำปีละ 8 แสนตันและถ่านหินที่มีคุณภาพสูงอยู่ประมาณ 26 ล้านตัน หากสามารถนำเอาถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำมาผลิตเป็น Brown Hydrogen นอกจากจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงได้แล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรถ่านหินของประเทศให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดด้วย
นอกจากนี้กฟผ.ยังมีแผนร่วมมือกับญี่ปุ่นศึกษาการนำถ่านหินมาผลิตเป็นไฮโดรเจน พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS ในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเมื่อมีการกักเก็บคาร์บอนก็จะทำให้ได้ Blue Hydrogen ซึ่งโครงการที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในการผลิต Blue Hydrogen ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาได้ในปี 2568
พร้อมกันนี้ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะยังได้ดำเนินโครงการวิจัยการศึกษาสมรรถนะของระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปีย 4190 ซึ่งมีศักยภาพกว่าเนเปียทั่วไปนำมาวิจัยหมักเป็นก๊าซชีวภาพในบ่อต้นแบบด้วยถังปฏิกรณ์แบบกวนสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันการศึกษาจัยโครงการนี้ดำเนินการอยู่ในระยะที่ 3 ที่สามารถใช้วัตถุดิบมาผสมได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหมักผสมกับผักตบชะวา และสับปะรดที่ตัดทิ้งในจังหวัดลำปาง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากแผนลงทุนไฮโดรเจน การนำชีวมวลอัดเม็ดมาผสมกับถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแล้ว กฟผ.ยังมีแผนลงทุนโซลาร์ฟาร์มในเหมืองแม่เมาะ โดยระยะแรกจะดำเนินการลงทุนขนาดกำลังการผลิต 38.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในการผลิตถ่านหิน เพื่อช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะในช่วงเวลากลางวัน พร้อมทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065