“กรมราง” จ่อชงคมนาคมเพิ่มรถไฟฟ้าเหลือง-ชมพู เก็บค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย

ผู้ชมทั้งหมด 7,103 

กรมราง” จ่อชงคมนาคมขยายผลนโยบายรถไฟฟ้าราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ปี67 เพิ่มอีก 2 สาย เหลือง-ชมพู มั่นใจรฟม.มีเงินเพียงพอชดเชยรายได้ที่หายไปแน่นอน แนะรัฐปรับรูปแบบการลงทุน100%สร้างรถไฟฟ้าเหมือนสร้างถนน เชื่อค่าโดยสารถูกลงประชาชนไม่ต้องแบกภาระตั๋วแพง

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ว่า กระทรวงคมนาคมมีความต้องการปรับลดอัตราค่าโดยสาร เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเป็นช่องทางให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น

ดังนั้นทางโครงการฯจึงได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนระบบราง ค่าสัมปทาน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมทั้งรูปแบบการกำหนดอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและ ปริมณฑล เมืองภูมิภาค และการเดินทางระหว่างจังหวัด หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า โครงสร้างอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เหมาะสม ตลอดจนมาตรการเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสรุปผลการศึกษาภายในเดือนก.พ.67 ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาสรุปเบื้องต้นได้ว่า ประชาชนยินดีที่จะจ่ายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าโครงการใหม่ๆในกรุงเทพฯและปริมณฑล สูงสุดไม่เกิน42 บาทต่อครั้งการเดินทาง และมีระยะการเดินทางเฉลี่ยต่อเที่ยวประมาณ 13 กิโลเมตร(กม.)ต่อวัน ซึ่งเป็นราคาที่ประชาชนยอมรับได้  ดังนี้ อัตราค่าโดยสารระหว่างเมือง คำนวณอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ได้แก่ ชั้น 1 : ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 1.165 บาทต่อ กม. ,ระยะทาง 101 – 200 กม. ราคา 1.066 บาทต่อ กม. ,ระยะทาง 201 – 300 กม. ราคา 0.981 บาทต่อ กม. ,ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.924 บาทต่อ กม.

ชั้น 2 : ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.610 บาทต่อ กม. ระยะทาง 101 – 200 กม. ราคา 0.525 บาทต่อ กม. ระยะทาง 201 – 300 กม. ราคา 0.469 บาทต่อ กม. ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.420 บาทต่อ กม. และ ชั้น 3 : ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.269 บาทต่อ กม. ระยะทาง 101 – 200 กม. ราคา 0.255 บาทต่อ กม. ระยะทาง 201 – 300 กม. ราคา 0.200 บาทต่อ กม. ระยะทาง มากกว่า 300 กม. ราคา 0.181 บาทต่อ กม.

ส่วนอัตราค่าโดยสารเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณตาม MRT Standardization (MRT STD) ทั้งค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) สำหรับอัตราค่าโดยสารในเมือง ภูมิภาค 7 จังหวัด มีหลักเกณฑ์การคำนวณตาม MRT STD โดยใช้ CPI NFB รายจังหวัด คือ ค่าแรกเข้า (10.79 – 12.17 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.)  (1.94 – 2.19 บาทต่อ กม.)

ขณะที่อัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง เมื่อพิจารณาต้นทุนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว จะกำหนดค่าแรกเข้า (95 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) โดยระยะทาง 300 กม. แรก ราคา 1.97 บาทต่อ กม. และระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 1.70 บาทต่อ กม.

ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา  2 โครงการนำร่อง คือ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และ โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน พบว่า ระยะเวลากว่า 3 เดือน มีค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ในช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.01 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.85 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของปริมาณ ผู้โดยสารระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.41 ซึ่งจำนวนผู้ใช้บริการมากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

ดังนั้นการชดเชยรายได้ที่หายไปของรถไฟฟ้า 2 สายที่คาดการณ์ว่าจะต้องชดเชยประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีนั้นจึงน้อยลงประมาณ 25% และยังเหลือเวลาปี 9 เดือนเชื่อว่าปริมาณผู้โยสารจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ ขร.จะสรุปเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม ว่าจะตัดสินใจต่อนโยบายค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาทตลอดสายอีกหรือไม่ เพราะเรามั่นใจว่าอัตราชดเชยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้แน่นอน

ต่อข้อถามว่าจะมีการการขยายนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสายไปยังรถไฟฟ้าสายอื่นในปีนี้หรือไม่นั้น ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายรถฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสายของรถไฟฟ้าสีม่วงไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่ใช้ส่วนแบ่งรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินปีละประมาณ 2-3 พันล้านบาทมาจ่ายให้สายสีม่วงแทน ส่วนสายสีแดงยังไม่มีรายได้จึงต้องชดเชย ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีอื่นที่สามารถทำได้ในปี 67 นี้ น่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าสายใหม่ที่ยังมีปริมาณผู้โดยสายไม่เยอะมาก โดยสารสีเหลืองมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 3-4 หมื่นคนต่อวัน และสายสายสีชมพูมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน ทั้งนี้ ขร.จะนำเสนอในที่ประชุมสัมมานาเชิงปฏิบัติการของกระทรวงคมนาคมในช่วงปลายเดือนม..ค.นี้ หากฝ่ายนโยบายตัดสินใจจะดำเนินการก็มั่นใจว่ารฟม.มีส่วนแบ่งรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพียงพอที่จะนำมาชดเชยได้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณภาครัฐ

ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า หากจะทำให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าในราคาถูก โดยที่รัฐไม่ต้องชดเชยรายได้ที่ขาดไปนั้นในรายงานการศึกษาระบุว่า รัฐควรปรับรูปแบบการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในอนาคตเป็นแบบรัฐลงทุน 100% และจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถ เช่นเดียวกับการลงทุนก่อสร้างถนน ที่รัฐลงทุนค่าก่อสร้างและซ่อมบำรุง 100% คล้ายกับที่ รฟม. ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งไม่ใช่การให้เอกชนร่วมลงทุนภาครัฐ (พีพีพี) เพราะหากให้เอกชนร่วมลงทุนก็จะนำส่วนที่จะต้องลงทุนไปบวกในค่าตั๋วโดยสารแน่นอน ทำให้ลดอัตราค่าโดยสารลงไม่ได้ ดังนั้นเมื่อพ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ…. มีผลบังคับใช้ และขร.ก็จะมีอำนาจในการนำเสนอรูปแบบการลงทุนลักษณะนี้ให้คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณา เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกภาระอีกต่อไป