ผู้ชมทั้งหมด 4,579
ส่องความคืบหน้าท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 กทท. ยืนยันงานก่อสร้างเป็นไปตามแผน เร่งส่งมอบงานถมทะเล มิ.ย. 67 คาดปลายเดือนม.ค. นี้ได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูลส่วนงานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ-ระบบถนน-ระบบสาธารณูปโภค มูลค่ากว่า 7.3 พันล้าน เริ่มสร้าง เม.ย. 67 แล้วเสร็จปี 70
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) แถลงความคืบหน้าติดตามการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจว่า โครงการฯ อยู่ระหว่างงานก่อสร้างทางทะเล ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ เดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 17.34% ล่าช้ากว่าแผนในภาพรวม 1.67%
โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ตามแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.90% ต่อเดือน ทำได้ 2.08% ต่อเดือน ส่วนเดือนธันวาคม 2566 ตามแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.99% ต่อเดือน ทำได้ 2.00% ต่อเดือน ซึ่งนับเป็นสัญญาณบวกที่ดีขึ้นที่การก่อสร้างก้าวหน้ามากขึ้นหลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ได้กำชับและเร่งรัดให้ปฏิบัติงานให้ได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้
ทั้งนี้กิจการร่วมค้า CNNC ได้นำเครื่องจักรทางน้ำเข้ามาปฏิบัตงานเพิ่มเติมอีกจำนวน 30 ลำ จากเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 37 ลำ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 67 ลำในปัจจุบัน รวมถึงได้นำบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มเติมอีก จำนวน 120 คน จากเดิมมีบุคลากรจำนวน 400 คน รวมมีบุคลากรปฏิบัติงานทั้งสิ้นจำนวน 520 คน
อย่างไรก็ตาม กทท.ได้เร่งรัดกิจการร่วมค้าฯ ให้ดำเนินงานแล้วเสร็จ เพื่อส่งมอบงานพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ให้ กทท. ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2567 ตามกำหนด ก่อนจะส่งมอบให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาตามกำหนดภายในเดือนพฤศจิกายน 2568 ทั้งนี้ขอยืนยันว่า การดำเนินงานในปัจจุบัน ยังไม่กระทบกับสัญญาของ GPC แต่อย่างใด ซึ่ง GPC จะได้ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี และจะเริ่มต้นสัญญา นับจากวันที่ กทท. ส่งมอบพื้นที่เสร็จแล้ว
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (ส่วนที่ 2) งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค งบประมาณ 7,425 ล้านบาท นั้น กทท.ได้ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้าง โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งมีนักลงทุนให้ความสนใจยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 4 ราย
ได้แก่ 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, 2.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR, 3.บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารรายละเอียดตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง คาดว่า จะได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูลช่วงปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนเริ่มก่อสร้างภายใน เมษายน 2567 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปีกว่า หรือ 1,260 วัน คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2570
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี เพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของ ทลฉ. จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ช่วย สนับสนุนการลดต้นทุน การขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ250,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อมุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ
ด้าน นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานติดตามความคืบหน้าการก้อสร้าง ทลฉ. ระยะที่ 3 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกัยโครงการนี้อย่างมาก และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น โดยได้เดินสายประชาสัมพันธ์โครงการไปทั่วโลก จึงได้เร่งรัดให้การดำเนินการเป็นไปตามแผน อีกทั้ง นางมนพร มีความเป็นห่วงจึงมอบหมายให้คณะทำงานฯ กำชับติดตามการทำงานเป็นรายวัน และรายสัปดาห์ และให้รายงานความคืบหน้าไปยังกระทรวงคมนาคมด้วย ดังนั้นยืนยันว่า จากนี้ไปการทำงานจะเป็นไปตามแผนอย่างแน่นอน