ผู้ชมทั้งหมด 10,601
“สุริยะ” ผุดแผนพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ อาคารสูง-มิกซ์ยูส เชื่อมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หนุนการเดินทางไร้รอยต่อรถโดยสาร – ระบบราง ตามโมเดลประเทศญี่ปุ่น ยกระดับ บขส. วางแนวคิดการให้บริการคล้ายสนามบิน สร้างรายได้ – ใช้ประโยชน์พื้นที่เต็มประสิทธิภาพ หวังเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางครบรูปแบบ สะดวก – รวดเร็ว – ปลอดภัย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ถึงปัญหาของสถานีขนส่งหมอชิต 2 ในด้านคุณภาพของชานชาลา บันไดเลื่อน ไฟฟ้าส่องสว่าง ป้ายบอกทาง การเชื่อมต่อการเดินทาง จุดดับเพลิง และห้องพยาบาล รวมถึงห้องให้นมบุตรนั้น ล่าสุดได้สั่งการให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เร่งดำเนินการแก้ไขโดยทันที เพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้ บขส.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในบางส่วนแล้ว เหลือเพียงการแก้ไขปัญหาเรื่องบันไดเลื่อนเก่า ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีความปลอดภัยระดับสูงสุด โดยในปัจจุบัน บขส. อยู่ระหว่างการออกแบบให้มีความเหมาะสม ทั้งด้านจำนวน และตำแหน่ง รวมถึงการติดตั้งพัดลมระบายอากาศในพื้นที่ชานชาลาเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังรับทราบถึงปัญหาการเดินทางไปยังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่เข้าถึงยาก และมีการใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า รวมถึงปัญหาเรื่องคุณภาพของอาคาร ดังนั้น จึงได้เตรียมแนวทางและแผนการดำเนินการสำหรับการแก้ปัญหาสถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ได้สนับสนุนให้การเดินทางในระยะใกล้ที่มีระยะทางไม่เกิน 200 กิโลเมตร (กม.) ใช้ระบบขนส่งรอง (Feeder) ซึ่งรถ บขส. ถือเป็นระบบขนส่งรองประเภทหนึ่ง เพื่อไปเชื่อมต่อกับการขนส่งระบบรางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นระบบหลักของการเดินทางระยะไกล ที่มีระยะทางมากกว่า 200 กม. ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ครอบคลุมในเส้นทางทั่วประเทศ
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม ยังมีแนวคิดในการพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ เนื่องจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ในปัจจุบัน เป็นสถานีขนส่ง “ชั่วคราว” ย้ายมาจากหมอชิตเดิม ทั้งนี้ จะพัฒนาเป็นอาคารสูงที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้อย่างสะดวก และมีอาคารแยกการให้บริการในแต่ละแนวเส้นทาง อาทิ อาคารเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) สายใต้ และสายตะวันออก
สำหรับรูปแบบในการพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่นั้น จะต้องออกแบบให้ผู้โดยสารสามารถเดินเท้าเชื่อมต่อระหว่างอาคารกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเชื่อมต่อโดยอุโมงค์ หรือทางเดินที่มีหลังคาคลุม นอกจากนั้นแล้วการให้บริการของรถ บขส. จะต้องเป็นรูปแบบเดียวกันกับสนามบิน หรือจะต้องใช้ประตูทางออกร่วมกัน (Shared Gate) เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ โดยรถ บขส. จะต้องเข้ามารับผู้โดยสารตามเวลาที่กำหนด และออกจากสถานีภายในเวลา เพื่อให้การให้บริการในเส้นทางอื่น ๆ สามารถเข้ามาใช้ Gate ต่อเนื่องได้
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า บริเวณสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ จะต้องไม่มีอู่จอดรถในพื้นที่อาคาร โดยรถที่ให้บริการจะเข้ามารับ – ส่งผู้โดยสารตามเวลาเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของพื้นที่ และลดปัญหามลพิษ และที่สำคัญคือจะพัฒนาอาคารเป็น Mixed Use โดยมีการออกแบบอาคารให้ใช้ร่วมกัน เช่น ใช้พื้นที่ชั้นล่างเป็นสถานีรถโดยสาร และพัฒนาพื้นที่ชั้นบนเป็นสำนักงาน รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่รอคอย และพื้นที่ซื้อตั๋วในตัวอาคาร พร้อมทั้งป้ายแสดงข้อมูลรถที่จะเข้ายังชานชาลาต่าง ๆ ในลักษณะ Shared Gate ดังเช่นต้นแบบในต่างประเทศ
ทั้งนี้การพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ในอนาคตจะได้นำหลักคิดโดยให้การบริการประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และออกแบบระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อสร้างความสะดวก สบาย รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ถูก และเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขทุกภาคส่วน โดยการพัฒนาดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 4 ปี และจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาที่ดินมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่า บขส. มีทรัพย์สินในการบริหารจัดการ และมีสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนา ดังนั้น จึงมั่นใจว่าจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด
“สำหรับรูปแบบการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ ได้หยิบยกโมเดลจากต่างประเทศ เพื่อนำมาประกอบแผนในการพัฒนาในประเทศไทย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ณ สถานีฮากาตะ ที่พัฒนาสถานีโดยสารเป็นอาคารสูง และเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟได้อย่างสมบูรณ์แบบ สถานีโตเกียวที่มีการพัฒนาสถานีโดยสารที่ เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟโตเกียว เป็นต้น” นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เดือนเมษายน 2567 นั้น กระทรวงคมนาคมได้จัดเตรียมแผนรองรับการเดินทางของผู้โดยสารไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งศูนย์ปราบปรามความผิดเรียบร้อยแล้ว รวมถึงทำความสะอาดของห้องน้ำทั้งหมด และได้สั่งการให้ บขส. ไปดำเนินการติดตั้งไฟแสงสว่างให้ครอบคลุมทั่วทั้งบริเวณ พร้อมทั้งเตรียมเปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้า เช่นเดียวกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดความแออัดของประชาชนได้เป็นอย่างดี