ผู้ชมทั้งหมด 497
ปีพุทธศักราชใหม่ (พ.ศ.2567) ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ม.ค. 2567 นับเป็นความหวังของประชาชนที่จะถือฤกษ์ดีเริ่มต้นกิจกรรมต่างๆ ทางการค้าและการลงทุน เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชากรทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่
ปี 2567 แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังมีอยู่ แต่ผลกระทบความรุนแรงของโรคลดลงไปมาก หลังประชากรเรียนรู้ และปรับตัวรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคได้ดีขึ้น กิจกรรมต่างๆ จึงกลับมาคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ การค้าและการลงทุน เป็นต้น
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้คาดว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี2567 จะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 3.2%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1) การกลับมาขยายตัวของการส่งออก (2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และ (3) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.2% และ2.8% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว3.8% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของ GDP
ต้นทุน “ราคาพลังงาน” ถือเป็นอีกส่วนที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2567 มีหลายประเด็นร้อน “เรื่องพลังงาน” ที่เกี่ยวข้องกับภาคนโยบาย ซึ่งจะสะท้อนไปสู่ต้นทุนราคาพลังงานในปี 2567 ที่ต้องติดตามความเคลื่อนไหว ดังนี้
สำหรับประเด็นร้อนด้านนโยบายพลังงาน ประกอบด้วย
-ไทยยกคุณภาพน้ำมันสู่มาตรฐาน ยูโร 5
ประเดิมวันที่ 1 ม.ค.2567 ภาครัฐกำหนดให้ “น้ำมัน” ที่จำหน่ายผ่านสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน ทั่วประเทศไทย ต้องจำหน่ายน้ำมันตามมาตรฐาน ยูโร 5 จากเดิมจำหน่ายน้ำมัน มาตรฐาน ยูโร 4 ซึ่งจะทำให้เนื้อน้ำมันที่จำหน่ายมีปริมาณกำมะถันลดลงมาใกล้เคียงมาตรฐานยุโรป จาก 50 ppm เหลือ 10 ppm ถือเป็นดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะลดการปล่อยมลพิษบนท้องถนน โดยกรมธุรกิจพลังงาน คาดว่า ทุกปั๊มทั่วประเทศจะใช้เวลาราว 4 เดือน ในการเปลี่ยนผ่านจากน้ำมัน ยูโร 4 มาจำหน่ายน้ำมัน ยูโร 5 ครบทุกปั๊ม
แต่ประเด็นที่ต้องติดต่อ คือ เรื่องต้นทุนค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐาน ยูโร 5 ที่จะสะท้อนผ่านไปยังต้นทุนเนื้อน้ำมันว่าสุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคปลาย จะต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างไรหรือไม่ เนื่องจากภาครัฐยังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันฯ ซึ่งเบื้องต้น กลุ่มโรงกลั่นฯแจ้งว่า มีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
-แผนชำระคืนหนี้กองทุนน้ำมันฯ ระดับแสนล้านบาท
ต้นทุนราคาน้ำมันดิบตลาดโลก แม้หลายสำนักฯจะคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2567 อาจอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปี 2566 เล็กน้อย โดย กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในอนาคต ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กำลังการผลิตน้ำมัน รวมถึงสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ เป็นต้น
ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีหนี้ระดับกว่า 1 แสนล้านบาท หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้กู้เงินตามกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อมาพยุงสถานการณ์พลังงานในภาวะฉุกเฉิน ทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ทำให้ล่าสุด ณ วันที่ 17 ธ.ค.2566 กองทุนฯ ติดลบ 78,680 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน ติดลบ 32,569 ล้านบาท และบัญชีLPG ติดลบ 46,111 ล้านบาท ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่องก็จะส่งผลดีต่อสถานะกองทุนน้ำมันฯ และสามารถชำระเงินกู้คืนได้ตามกำหนด แต่หากราคาน้ำมันกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนฯในอนาคตเช่นกัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนผู้ใช้น้ำมันก็ต้องมีส่วนรวมรับภาระดังกล่าวด้วย
ดังนั้น ต้องติดตามดูว่า ในปี 2567 กระทรวงพลังงาน จะยังมีนโยบาย รวมถึงตรึงราคาดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร หลังสิ้นสุด 31 ธ.ค.2566 รวมถึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่อหรือไม่ หลังล่าสุด มีมติให้ตรึงราคาอีก 3 เดือน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567
-ลดหัวจ่ายน้ำมันดีเซล เหลือ 2 ชนิด
ปัจจุบัน ประเทศไทย ถือว่า เป็นประเทศที่มีชนิดของหัวจ่ายน้ำมันผ่านปั๊มมากที่สุด ทั้งกลุ่มเบนซิน และดีเซล ทำให้ผู้ใช้น้ำมันเกิดความสับสนและเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ค้าน้ำมันฯ ฉะนั้นเพื่อลดปัญหาดังกล่าว มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 จึงเห็นชอบปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 2 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาที่เป็นน้ำมันฐานของประเทศจะมีการผสมไบโอดีเซล (B100) อยู่ที่ 7% (บี7) และให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี 20) เป็นน้ำมันทางเลือก เริ่ม 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยกรมธุรกิจพลังงาน ประเมินว่า การลดหัวจ่ายน้ำมันดังกล่าวจะเพิ่มการใช้ไบโอดีเซล เป็นอยู่ที่ 4.66 ล้านลิตร/วัน จากเดิม อยู่ที่ 4.33 ล้านลิตร/วัน ก็ต้องติดตามดูว่า นโยบายดังกล่าวจะดำเนินการได้จริงหรือไม่
-ยืดเวลาชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ
ตามกฎหมายใน วันที่ 24 ก.ย. 2567 จะเป็นวันสุดท้ายที่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะสามารถนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันทั้งแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลได้ หลังจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาไปแล้ว 1 ครั้ง เพื่อให้สามารถนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชยราคาดีเซลต่อไปได้ ซึ่งจะสิ้นสุดการขอขยายเวลาในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ โดยตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถขอขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี
ฉะนั้น ต้องรอดูว่า ภาครัฐจะมีนโยบายอย่างไรต่อไป ซึ่งหากจะขอยืออายุการชดเชยต่อก็สามารถทำได้ตามกฎหมายอีก 2 ปี แต่จะเป็นครั้งสุดท้าย โดยนับตั้งแต่ 24 ก.ย. 2569 เป็นต้นไป จะต้องยกเลิกการชดเชยอย่างถาวร
-คลอด 5 แผนพลังงานฯ
กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทำแผนพลังงานชาติ 2023 (National Energy Plan 2023) ที่เป็นแนวทางพัฒนาพลังงานในช่วง 5 ปี ข้างหน้าของประเทศไทย โดยภายใต้แผนนี้ จะต้องบูรณาการ 5 แผนพลังงาน ที่จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติร่วมกัน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
ปัจจุบัน ทั้ง 5 แผนดังกล่าวยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ฉะนั้นต้องติดตามดูว่า ในปี 2567 กระทรวงพลังงาน จะสามารถผลักดัน 5 แผนดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพตามทิศทางของทั้ง 5 แผนหรือไม่
-นโยบายรัฐกดค่าไฟปี 2567
ต้นทุนค่าไฟฟ้า งวดแรกปี 2567 (งวด ม.ค.-เม.ย.) ที่รัฐบาล มีนโยบายดูแล ไม่ให้เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือว่าสูงขึ้นจากงวดสุดท้ายของปี 2566 (ก.ย.-ธ.ค.) อยู่ที่ระดับ 3.99 บาทต่อหน่วย ยังเป็นโจทย์สำคัญของกระทรวงพลังงาน ที่จะหาวิธีการมาลดต้นทุนค่าไฟฟ้าใน 2 งวดที่เหลือของปี 2567 คือ งวด พ.ค.- ส.ค. 2567 และ งวด ก.ย.-ธ.ค.2567 ให้มีต้นทุนต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน และประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้านั้น ยังต้องจับตาดูทั้งต้นทุนราคาก๊าซฯในอ่าวไทยว่า ปตท.สผ.จะสามารถเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณ ได้ตามแผนหรือไม่ รวมถึงการนำเข้าLNG จากต่างประเทศทิศทางราคาจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันภาระหนี้ที่รัฐจะต้องจ่ายคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.)ที่เข้ามาแบกรับภาระส่วนต่างค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไปก่อนกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น จะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบต่อสถานะการเงินของ กฟผ. และประชาชนจะสามารถใช้ไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยได้หรือไม่
ประเด็นร้อนเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย
-จับตาแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ.คนใหม่
ปัจจุบัน กฟผ. ยังมีผู้ว่าการฯ คนใหม่(คนที่ 16) หลังจาก นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ. ได้เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 ที่ผ่าน และการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ.ที่ผ่านมาไม่เป็นผลสำเร็จ จนต้องรอเข้าสู่กระบวนการใหม่ โดยยังต้องรอการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ดกฟผ.) ชุดใหม่ หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566
อีกทั้ง การแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ ยังจะส่งผลต่อการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็น บริษัทลูกของ กฟผ. หลังจากนางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ คนปัจจุบัน ได้สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งลงแต่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ จนกว่าบริษัทแม่ จะมีนโยบายที่ชัดเจนในการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ เข้ามาแทน
-จับตาแต่งตั้ง CEO ปตท.คนใหม่
ในเดือน พ.ค. 2567 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ CEO ปตท. จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ปตท.จึงได้ออกประกาศเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2566- 3 ม.ค. 2567 ฉะนั้น ต้องจับตาดูใคร จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง CEOปตท.คนใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนตัว CEO ปตท.คนใหม่ ก็ย่อมมีผลต่อการกำหนดนโยบายพลังงานในอนาคต เพราะ ปตท.ถือเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ทุกความเคลื่อนไหวของบริษัทยักษ์ใหญ่ย่อมมีผลต่อทิศทางพลังงานในอนาคต
-อุ้มราคา NGV แท็กซี่และรถสาธารณะ
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. (บอร์ด ปตท.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 มีมติเห็นชอบแผนช่วยเหลือราคา NGV ในระยะ 2 ปี โดยช่วงแรก (มกราคม ถึง มิถุนายน 2567) ปตท. ลดราคา NGV ให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และกลุ่มรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ฯ ไว้ที่ 14.62 บาท/กิโลกรัม มีผลตั้งแต่มกราคม 2567 และกุมภาพันธ์ 2567 ตามลำดับ
ทั้งนี้ สำหรับผู้สมัครใหม่เริ่มมีผลกุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกำหนดราคาขายปลีก NGV กลุ่มผู้ใช้รถทั่วไป ไม่เกิน 19.59 บาท/กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่มกราคม ถึง มิถุนายน 2567)
ดังนั้น ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 เมื่อสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวแล้ว ปตท.ยังจะมีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่ใช้ NGV ต่อหรือไม่