ผู้ชมทั้งหมด 430
บอร์ด ปตท. ไฟเขียว งบลงทุน 5 ปี( 2567-71) รวม 196,135 ล้านบาท พร้อมตั้งงบลงทุนในอนาคต อีก 106,932 ล้านบาท ขณะที่ปี2567 อัดงบลงทุนอยู่ที่ 26,283 ล้านบาท ขยายการเติบโตธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติงบลงทุน 5 ปี (ปี 2567 – 2571) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท ดังนี้
สำหรับ ปี2567 ปตท.ตั้งงบลงทุนราว 26,283 ล้านบาท ปี2568 งบลงทุน 34,298 ล้านบาท ปี2569 งบลงทุน 12,307 ล้านบาท ปี2570 งบลงทุน 11,317 ล้านบาท และ ปี2571 งบลงทุน 4,998 ล้านบาท โดยแยกการลงทุนตามประเภทธุรกิจหลัก พบว่า งบลงทุน 5 ปี ปตท.ใช้ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท คิดเป็น 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934ล้านบาท คิดเป็น17% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาทคิดเป็น 4% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789ล้านบาทคิดเป็น 14% การลงทุนในบริษัทที่ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 อยู่ที่ 27,822 ล้านบาท คิดเป็น 31 %
ทั้งนี้ ปตท. มีการลงทุนในธุรกิจหลัก(Core Business) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบการลงทุน 5 ปี ประมาณร้อยละ 51 โดยมีโครงการหลัก อาทิ โรงแยก ก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5
การลงทุนดังกล่าวเพื่อให้การลงทุนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “Powering life with future energy and beyond” ปตท. ยังมีการลงทุนในธุรกิจ ใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 อาทิ โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell- To- Pack (CTP) รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
นอกจากนี้ ปตท. ยังได้เตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีก 106,932 ล้านบาท โดยหลักเพื่อการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อาทิ การขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (TransitionFuel)โดยมุ่งเน้นการขยาย โครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การขยายการลงทุนของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์รวมถึงมุ่งเน้น ธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิการลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Lifescience)ซึ่งรวมถึงธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการและอุปกรณ์ และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจ AI&Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการ ด้าน AI & Robotics ในอนาคต ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยง ระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ