ผู้ชมทั้งหมด 613
ปตท.สผ. อัดงบลงทุนปี 2567 รวม 6,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หวังเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเติบโต 9% ขณะที่ 5 ปีลงทุน รวม 32,575 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เน้นเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการหลักในประเทศไทยและต่างประเทศ และผลักดันโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เริ่มการผลิตได้ตามแผน
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไว้ที่ 6,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 230,194 ล้านบาท) แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 4,316 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 147,823 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 2,405 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 82,371 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนงานหลัก โดยเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก คือ การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) และการเติบโตในธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Diversify) ดังนี้
1.เพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล และฟูนาน) โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมถึงโครงการผลิตหลักในต่างประเทศ โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 3,202 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 109,669 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีแผนการดำเนินกิจกรรมซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ด้วยการบริหารจัดการการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต เช่น การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) รวมถึง การดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนในส่วนนี้ จำนวน 109 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 3,733 ล้านบาท)
2.เร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค410บี และโครงการอื่น ๆ ในมาเลเซีย รวมทั้ง โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน โดยบริษัทได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 762 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 26,099 ล้านบาท)
3.เร่งดำเนินการสำรวจในโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 220 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 7,535 ล้านบาท) สำหรับการศึกษาทางธรณีวิทยา การเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินผลของโครงการในประเทศไทย มาเลเซีย โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (2567-2571) บริษัทได้จัดสรรงบประมาณรวม 32,575 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 1,083,376 ล้านบาท) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยได้สำรองงบประมาณเพิ่มเติม (Provisional budget) สำหรับปี 2567-2571 อีกจำนวน 2,022 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 67,822 ล้านบาท) เพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนนอกชายฝั่ง (Offshore Renewables) ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน การต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทมีอยู่ไปสู่ธุรกิจ
ดังนั้น จากแผนงานดังกล่าว ปตท.สผ. ได้ประมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวัน (Average sales volume) จากโครงการปัจจุบัน ระหว่างปี 2567 – 2571 ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปี 2567 ขึ้นประมาณร้อยละ 9 ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการผลิตของโครงการจี 1/61 ส่วนในช่วง 5 ปีข้างหน้า การลงทุนหลัก ๆ จะเน้นการพัฒนาโครงการสำคัญให้สามารถเริ่มการผลิตปิโตรเลียมได้ เพื่อสร้างการเติบโตตามแผนงาน ในขณะเดียวกัน ยังมองหาโอกาสการลงทุนในพลังงานสะอาดในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ปตท.สผ. มีแผนจะเริ่มการผลิตปิโตรเลียมหลายโครงการ ได้แก่ ในปี 2568 จะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ส่วนในปี 2570 จะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการมาเลเซีย เอสเค405บี และในปี 2571 คาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค410บี เริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวจากโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 และเริ่มการผลิตน้ำมันดิบจากโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคช ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตปิโตรเลียมตามแผนงาน