บวท. เร่งศึกษาข้อกฎหมายการให้บริการอากาศยานทางทะเล คาดสรุปส่งคมนาคมพิจารณา ธ.ค.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 9,640 

บวท. ตั้งคณะทำงานเร่งศึกษาข้อกฎหมายการให้บริการอากาศยานทางทะเล คาดสรุปส่งคมนาคมพิจารณา ธ.ค.นี้ หวังเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว ช่วยลดความแออัดภายในสนามบินหลักของประเทศ

ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ตามที่ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้มอบนโยบายให้ บวท. ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการควบคุมอากาศยานทางทะเล (Seaplane) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว และช่วยลดความแออัดภายในสนามบินหลักของประเทศนั้น ขณะนี้ บวท. ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการควบคุมอากาศยานทางทะเล (Seaplane) เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO) รวมทั้งวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง  วางแผนเส้นทาง และประเมินโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับข้อมูล และคำแนะนำประกอบการศึกษา โดยจะนำผลการศึกษานำเสนอให้กระทรวงคมนาคม ทราบภายในเดือน ธ.ค. นี้

อย่างไรก็ตาม บวท. มีความพร้อมในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ สำหรับอากาศยานทางทะเล (Seaplane) ตามที่ผู้ประกอบการภาคเอกชน ประสงค์ที่จะเปิดให้บริการในทุกพื้นที่ทางทะเล โดยจะเป็นการให้บริการจราจรทางอากาศในรูปแบบการปฏิบัติการบินด้วยกฎการบินทัศนวิสัย หรือ Visual Flight Rule (VFR) ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศของ บวท. ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ห้วงอากาศหลังจากอากาศยานบินขึ้นจากพื้นน้ำ ไปจนกระทั่งก่อนที่อากาศยานจะร่อนลงสู่พื้นน้ำ

สำหรับในบางพื้นที่ห่างไกลในทะเล บวท. ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศเพิ่มเติม ซึ่งประกอบด้วย ระบบการติดต่อสื่อสาร ระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศและระบบติดตามอากาศยาน ว่ามีความสามารถและมีประสิทธิภาพในการให้บริการคลอบคลุมอย่างเหมาะสม เพียงพอหรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมทางด้านเทคนิคอย่างไร เพื่อสามารถรองรับการให้บริการอย่างปลอดภัยได้

ส่วนการอนุญาตให้ทำการบินอากาศยานทางทะเล  สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของประเทศ กำลังเร่งดำเนินการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสนามบินน้ำ (Water Aerodrome) หรือ ที่ขึ้น-ลงชั่วคราวทางน้ำ  โดยจำเป็นตัองหารือร่วมกับ หน่วยงานอนุญาตภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อการใช้พื้นที่ขึ้น/ลงทางน้ำ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกำหนดของกฎหมาย ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กพท. จะได้ร่วมหารือเพื่อออกกฎระเบียบดังกล่าวต่อไป

ในส่วนของผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ยื่นขอใบรับรองกับทาง กพท. เพื่อให้บริการ Seaplane ในขณะนี้มีจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท Thai Seaplane จำกัด และ บริษัท SIAM Seaplane จำกัด  ซึ่งทั้ง 2 ราย มีอากาศยาน Seaplane และนักบินที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะพร้อมให้บริการ โดยได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแผนทางธุรกิจไว้เรียบร้อยแล้ว และมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบได้ทันที หากได้รับอนุญาต จาก กพท. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันเครื่องบินทางทะเลเป็นเครื่องบินที่สามารถบินขึ้น/ลงในน้ำได้ และยังสามารถขึ้น/ลงจอดบนสนามบินปกติได้อีกด้วย หรือที่เรียกว่าเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งได้รับความนิยมมากทั่วโลก  โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและหมู่เกาะ เนื่องจากใช้เวลาการเดินทางน้อยกว่าทางเรือปกติมาก ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล ที่จะช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไป