ผู้ชมทั้งหมด 5,799
“สุริยะ” เร่งรัดหน่วยงาน คค.ร่วมขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ตามนโยบาย Quick win 2567 – 2568
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งรัดทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ร่วมขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ตามนโยบาย Quick win 2567 – 2568 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญ โดยมี นายพงศกร อรรณนพพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ กล่าวว่า ตนเองได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เร่งรัดการดำเนินโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ตามนโยบาย Quick win 2567 – 2568 กระทรวงคมนาคมในทุกมิติ ทั้งทางด้านการขนส่งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความสะดวก ปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งมีโครงการที่สำคัญดังนี้
โครงการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่ โดยโครงการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เช่น การเพิ่ม Capacity สนามบินกระบี่ เพื่อรองรับผู้โดยสารจาก 4 ล้านคน เป็น 8 ล้านคนต่อปี การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 การก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานพังงา) และการสร้างทางพิเศษ สายกระทู้ – ป่าตอง ส่วนโครงการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ และพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และระบบขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่
โครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางบก เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา (M7) การจัดหารถ EV ของ บขส. และ ขสมก. และโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 หรือโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) (Double Deck) รวมทั้งการเร่งรัดเพิ่มโครงการทางยกระดับ บ้านแพ้ว – ปากท่อ อย่างไรก็ตามสำหรับมอเตอร์เวย์ M6 ช่วงเทศกาลปีใหม่ เปิดใช้บริการวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป ส่วนมอเตอร์เวย์ M81 เปิดใช้บริการในเดือนธันวาคม 2566
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมยังได้เร่งดำเนินโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางราง เช่น โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โครงการตั๋วร่วม Feeder เข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง และ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ทั้งนี้ การศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง (Feeder) เพื่อเข้าถึง Feeder จำนวน 26 เส้นทาง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง – สีแดง (เพิ่มเติม) ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ
โดยผลการหารือ แบ่งเป็น กรณีที่ 1 – เส้นทางที่มีการตัดระยะทางบริการให้สั้นลง และเส้นทางที่ ขบ. ได้ปรับเส้นทางแล้ว (3 เดือน) กรณีที่ 2 – เส้นทางที่มีการต่อแนวการให้บริการในจุดการเดินทางที่สำคัญ ไม่มีความซับซ้อนในการดำเนินการ (6 เดือน) กรณีที่ 3 – เส้นทางที่จำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดของการดำเนินงาน เช่น ความคุ้มค่าทางการเงินต่างทับซ้อนกับเส้นทางที่มีผู้ให้บริการเดิมหลายราย (23 เดือน) กรณีที่ 4 – เส้นทาง Feeder 26 เส้นทาง ที่รองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดง (9-29 เดือนแล้วแต่กรณี)
ทั้งนี้ สนข. และ ขบ. จะสำรวจเส้นทางร่วมกัน คาดว่า ประมาณอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม 2566 และภายหลังประมวลเส้นทางชัดเจนแล้ว ขบ. จะพิจารณานำไปประกาศฯ เพื่อเสนอเป็นเส้นทางสำหรับการให้บริการต่อไป
พร้อมกันนี้กระทรวงคมนาคมยังได้เร่งโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศ เช่น การเตรียมความพร้อมการกลับเข้า FAA CAT I การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานดอนเมือง การพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และการเตรียมความพร้อมการตรวจของ ICAO รวมถึงการเร่งรัดโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำ เช่น การพัฒนา Smart Pier ในแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมบัง ระยะที่ 3 และการศึกษาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) ส่วนด้านมาตรฐานความปลอดภัยระบบลิฟต์ ให้ยกระดับการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยระบบลิฟต์ ระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติในสถานีขนส่งผู้โดยสารและท่าอากาศยานของกระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ กล่าวว่า การขับเคลื่อนและติดตามโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม โดยการดำเนินโครงการต่าง ๆ จะเป็นการดำเนินการตามระยะเวลาที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้ เพื่อให้การดำเนินการโครงการต่าง ๆ เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ตามกรอบนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ซึ่งหมายถึงความสุขของประชาชนในทุกมิติ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ ด้านความปลอดภัย ด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และด้านการอนุรักษ์รักษสิ่งแวดล้อม