“สุรพงษ์” คิ๊กออฟใช้บัตร EMV เดินทางข้ามระบบรถไฟฟ้า 20 บาทตลอด 2 สาย ม่วง-แดง

ผู้ชมทั้งหมด 725 

สุรพงษ์” คิ๊กออฟใช้บัตร EMV เดินทางข้ามระบบรถไฟฟ้า 20 บาทตลอด 2 สาย ม่วง-แดง หวังผู้โดยสารพุ่งเกิน 1 แสนคนต่อวัน ด้านรฟม.ยังไม่คิดขอเงินชดเชยรายได้จากรัฐ แม้จะขาดทุนสายสีม่วงวันละ 5.6 ล้านบาท แต่ยังมีรายได้จากรถไฟฟ้าสายอื่นมาช่วยบริหารจัดการได้

เมื่อวันที่30 พ.ย. ณ สถานีบางซ่อน นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ทดสอบการเดินทางข้ามระบบเชื่อมต่อรถไฟฟ้า2 สาย ระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และรถไฟฟ้าชานเมืองสายนครวิถี (สายสีแดง) โดยใช้บัตร EMV Contactless ตามมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ระยะที่ 2 โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และนายกิติพงศ์ มุตตามระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากกระทรวงคมนาคม ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การทดสอบครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.เป็นต้นไป กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้ามาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีการเดินทางข้ามระบบ ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง สามารถจ่ายค่าโดยสารร่วม 2 สาย ได้ในราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาท เท่านั้น เมื่อใช้บัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที ทั้งนี้ เมื่อใช้บัตร EMV Contactless เดินทางข้ามระบบ จะถูกหักเงินในบัตรก่อนสายละ 20 บาท รวมเป็น 40 บาท และทางธนาคารจะดำเนินการ Cash Back กลับเข้าบัตรให้ภายใน 3 วัน ทำให้จ่ายค่าโดยสารร่วมจริงเพียง 20 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ที่ใช้บัตร EMV Contactless สามารถเดินทางข้ามระบบระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทุกสายในความรับผิดชอบของ รฟม. ได้แก่ สายสีม่วง – สายสีน้ำเงิน – สายสีเหลือง รวมถึงสายสีชมพูที่กำลังจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ช่วงต้นปี 2567  และจะได้รับสิทธิส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบด้วย

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขอฝากถึงประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าข้ามระบบม่วง-แดง หากมีปัญหาติดขัด สามารถแจ้งมาที่ รฟม. และ รฟท. พร้อมยินดีรับฟัง และปรับปรุงให้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการช่วยประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และให้มีรายได้มากขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดมลพิษบนท้องถนนด้วย ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ กระทรวงจะพยายามเร่งดำเนินการให้ใช้มาตรการค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายเช่นกัน

สำหรับปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง หลังมีมาตการค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสายสีแดง ก่อนมีมาตรการ (1-15 ต.ค.66)  มีผู้โดยสารใช้บริการ 21,632 คนต่อวัน หลังมาตรการ (16 ต.ค.-27 พ.ย.66) มีผู้โดยสาร 26,097 คน เพิ่มขึ้น 20.64% หรือประมาณ 4,465 คน ส่วนสายสีม่วง ก่อนมาตรการมีผู้โดยสาร 56,979 คน และหลังมาตรการมีผู้โดยสาร 64,803 คน เพิ่มขึ้น 13.73% หรือประมาณ 7,824 คน

อย่างไรก็ตามในส่วนของสถานีบางซ่อน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีแดง และสายสีม่วง ประมาณ 400-500 คนต่อวัน คาดว่าจากนี้ไปจะทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการเดินทางข้ามสายด้วยบัตร EMV เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว หรือประมาณ 800-1,000 คน  ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า หากปริมาณผู้โดยสารของสายสีแดง และสายสีม่วงใช้บริการเฉลี่ยวันละประมาณ 1 แสน ก็จะถึงจุดคุ้มทุนและรายได้เพียงพอต่อการบริหารจัดการโดยรัฐไม่จำเป็นต้องชดเชยรายได้ที่หายไปให้ และหากมีผู้โดยสารเกิน 1 แสนคนต่อวันก็จะมีกำไร ทั้งนี้ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย รองรับได้เกิน 1 แสนคนต่อวันอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่า กรณีที่มีข้อมูลว่ามาตรการรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงขาดทุนวันละหลายล้านบาทนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป้าหมายของการให้บริการสาธารณะไม่ใช่กำไรอยู่แล้ว ซึ่งกำไรทางตรงอาจดูได้จากผลประกอบการ แต่กำไรทางอ้อม ดูได้จากผลทางเศรษฐกิจ และการช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางสามารถนำเงินไปใช้จ่ายด้านอื่นเพิ่มได้

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมอบโจทย์สำคัญให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในการศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไป ที่สามารถสานต่อนโยบายดังกล่าวได้ และต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคต ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติมของหน่วยงานภาครัฐ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

ด้าน นายภคพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT ทุกสายในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ที่มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้รับสัมปทานในการเดินรถ และรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่มีบริษัท อีสเทิร์น บางกอก  โมโนเรล จำกัด (EBM) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เป็นผู้รับสัมปทานในการเดินรถ ให้สามารถรองรับการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ได้ทั้งหมด

โดยผู้ที่เดินทางข้ามระบบในระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทั้ง 4 สายนี้ ด้วยบัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบภายในเวลา 30 นาที จะจ่ายค่าแรกเข้าระบบเพียงครั้งเดียว โดยคิดจากค่าแรกเข้าหรือค่าโดยสารเริ่มต้นของรถไฟฟ้า MRT สายแรกที่ท่านเริ่มเดินทางเท่านั้น ทั้งนี้ รฟม. มองว่า EMV เป็นระบบเปิดที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบใหม่ๆ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี และเป็นมิตรต่อทั้งต่อผู้ใช้บริการชาวไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการระบบรถไฟฟ้า MRT เนื่องจากคนจำนวนมากพกบัตรเครดิตวีซ่า (VISA) หรือมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ที่มีสัญลักษณ์ Contactless Payment อยู่แล้ว ซึ่งสามารถใช้เป็นบัตร EMV Contactless ในการแตะเข้า – ออก ระบบรถไฟฟ้า MRT ได้ทันที รวมถึงยังมีบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย บัตรเดบิตของธนาคารยูโอบี และบัตรเดบิต Play Card (สมัครผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์) ที่สามารถใช้เป็นบัตร EMV Contactless ได้เช่นเดียวกัน

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า หลังมาตรการรถไฟฟ้าสายสีม่วงราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่ผลประกอบการโดยรวมยังถือว่าขาดทุน จากเดิมรถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนวันละประมาณ 5 ล้านบาท เป็นขาดทุนเพิ่มขึ้น 6 แสนบาทต่อวัน จึงทำให้ขาดทุนรวมเป็น 5.6 ล้านบาทต่อวัน แต่หากมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากถึงวันละ 1.5 แสนคนต่อวันก็จะไม่ขาดทุน แต่เวลานี้ยังมีผู้ใช้บริการไม่ถึงจุดคุ้มทุม แต่รฟม.ยังไม่ได้คิดที่จะขอเงินชดเชยรายได้จากรัฐบาล เนื่องจากยังมีรายได้จากสัมปทานรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่ยังสามารถนำมาบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่หลังมาตราการ 20 บาทตลอดสายของสายสีม่วง ส่งผลให้มีผู้โดยสารใช้บริการสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน จึงทำให้รฟม.มีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนนี้