OR มั่นใจปี2567 ธุรกิจดี เน้นบริหารจัดการสต็อกลดต้นทุน 

ผู้ชมทั้งหมด 1,370 

โออาร์ มั่นใจปี2567 ธุรกิจดี เน้นบริหารจัดการสต็อกลดต้นทุนรายจ่าย ลุยขยายการเติบโตรักษาแชมป์ยอดขายน้ำมันเบอร์ 1 ในไทย ลั่นยึดนโยบายรัฐ คุม “ค่าการตลาดน้ำมัน” เฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ 2 บาทต่อลิตร ช่วยลดภาระค่าครองชีพผู้บริโภค ควบคู่เดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจ Lifestyle เพิ่มมาร์จิ้น ดูแลผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจของ โออาร์ ในปี 2567 คาดว่า จะเป็นปีที่ดีของธุรกิจ และมองว่ายอดขายน้ำมันยังเติบโตสอดรับกับการขยายตัวของ GDP ประเทศ โดยตามปกติแล้วยอดขายน้ำมันจะเติบโตสูงกว่า การขยายตัวของ GDP ราว 1% ซึ่งในปี2566 มีประมาณการณ์ว่า GDP จะเติบราว 2.8-2.9% ฉะนั้นยอดขายน้ำมันปีนี้ ก็น่าจะเติบโตราว 4% ตามทิศทางGDP ของประเทศ

อีกทั้งในปี 2567 โออาร์ จะมุ่งเน้นเรื่องบริหารจัดการต้นทุนเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันเพื่อรักษาสมดุลลดปัญหาการขาดทุนของต้นทุนราคาน้ำมัน (Stock Loss) และสร้างผลกำไรของต้นทุนราคาน้ำมัน (Stock Gain) ซึ่งปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยี Dashboard เข้ามาใช้วัดผลกำไรขาดทุนได้แม่นยำและชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจยางมะตอย ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น ก็เดินหน้าขยายการลงทุน เพิ่มยอดขายเพื่อรักษาแชมป์เบอร์1 ไว้ต่อเนื่อง

รวมถึง จะเน้นส่งเสริมการเพาะปลูกเมล็ดกาแฟ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และยังเป็นการลดต้นทุนธุรกิจต้นน้ำ จากปัจจุบัน โออาร์ มีโรงคั่วกาแฟ มีศูนย์กระจายสินค้า ขาดแต่การพัฒนาต้นน้ำ เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการบริโภคกาแฟ ราว 80,000 ตันต่อปี แต่มีกำลังการผลิตเพียง 20,000 ตันต่อปี ขณะที่ โออาร์ มีความต้องการใช้เมล็ดกาแฟราว 6,000 ตันต่อปี จึงเป็นโอกาสเพิ่มเมล็ดกาแฟ ลดต้นทุนให้ร้านคาเฟ่ อเมซอน

นอกจากนี้ โออาร์ ยังสนใจขยายการลงทุนธุรกิจ Food and Beverage (F&B) โดยมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการต่อเนื่อง โดยหัวใจสำคัญของพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจกับโออาร์ จะต้องเกิดการแลกเปลี่ยนและใช้ผลิตภัณฑ์ของโออาร์ เพื่อสร้าง Synergy ร่วมกัน 

“ในเร็วๆนี้ โออาร์ จะมีข่าวดี MOU ร่วมกับบริษัทเกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อผลักดันการลงทุนธุรกิจด้าน Health & Wellness คาดว่าจะเห็นการลงทุนเริ่มได้ในไตรมาสแรกปี 2567“

นายดิษทัต กล่าวว่า โออาร์ เป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ในประเทศไทย ที่มีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์) ราว 43-45% หรืออันดับที่ 1 และเป็นผู้ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นฯ หรือมีหน้าที่ “ซื้อ-รับ-เก็บ และจ่ายน้ำมัน” ให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ ดังนั้น โออาร์ พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจต่างๆให้สอดรับกับทิศทางของรัฐ ซึ่งในโครงสร้างราคาน้ำมัน จะพบว่า มีอัตราจัดเก็บภาษี สัดส่วนราว 30% ,การประกาศราคาน้ำมันอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ สัดส่วนราว 60% และค่าการตลาด สัดส่วนราว 5-6% 

โดยที่ผ่านมา โออาร์ ยึดนโยบายรัฐดูแลค่าการตลาดเฉลี่ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมประมาณ 2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นว่าจากผลการดำเนินงานของ โออาร์ ในรอบ 9 เดือนของปีนี้ มีกำไร อยู่ที่ระดับ 10,900 ล้านบาท ขณะที่ยอดขาย อยู่ที่ระดับกว่า 600,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกำไรไม่ถึง 2% แต่ขณะเดียวกันจะเห็นว่า ธุรกิจ Lifestyle มีสัดส่วนกำไรมากถึง 25-30% ซึ่งโออาร์ ก็ยังต้องดำเนินธุรกิจรักษาแชมป์ผู้ค้าน้ำมันเบอร์1 ไว้เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ พร้อมดูแลผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

”ค่าการตลาดที่ได้ราว 2 บาทต่อลิตร จะเป็นในส่วนของดีลเลอร์ ประมาณ 1 บาทต่อลิตร และอีกประมาณ 1 บาทต่อลิตร เป็นค่าบริหารจัดการของโออาร์ และเก็บไว้ลงทุน ซึ่งโออาร์ พร้อมให้ตรวจสอบข้อมูล ไม่บิดเบือน เราเป็นองค์กรที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เช่น ผู้ถือหุ้น สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในหุ้นด้วย“

ธุรกิจ Mobility ของ โออาร์ มีความหลากหลาย ไม่ได้มีเพียงการขายปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น เท่านั้น แต่โออาร์ ยังเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเครื่องบิน ,ธุรกิน้ำมันเดินเรือ, ธุรกิจจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ซึ่งรับเชื้อเพลิงมาจากโรงกลั่นฯเครือปตท. ก็เป็นเบอร์1 , ธุรกิจจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น ก็มียอดขายเบอร์1 รวมถึงการขายน้ำมันดีเซล ป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าด้วย ทำให้ โออาร์ ยังต้องเดินหน้าขยายการเติบโตของธุรกิจต่อไป 

ขณะเดียวกันในปี 2567 โออาร์ ยังได้เตรียมพร้อมเก็บสำรองน้ำมันตามมาตรฐานยุโรป ระดับ5 (ยูโร 5) ที่ภาครัฐกำหนดนโยบายให้น้ำมันที่จำหน่ายในประเทศไทยต้องขยับจากมาตรฐาน ยูโร4 เป็น ยูโร5 ตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เนื้อน้ำมันที่จำหน่ายมีปริมาณกำมะถันลดลงมาใกล้เคียงมาตรฐานยุโรป จาก 50 ppm เหลือ 10 ppm และโรงกลั่นฯ ในกลุ่มปตท. ก็ถือว่า มีสัดส่วนกำลังการผลิตน้ำมันในปริมาณมากของประเทศที่จะได้มีส่วนร่วมดูแลลดปัญหามลพิษลง