AOT โชว์กำไรปี 66 กว่า 8,700 ล้าน ลุยลงทุนขยายสนามบิน 6 ปี อัดงบลงทุน 9.7 หมื่นล้านบาท

ผู้ชมทั้งหมด 990 

AOT โชว์กำไรปี 66 กว่า 8,700 ล้าน พร้อมลุยลงทุนขยายสนามบิน 6 ปี อัดงบลงทุน 9.7 หมื่นล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมการบินโตก้าวกระโดด คาดปี 67 ผู้โดยสาร 6 สนามบินทะลุ 140 ล้านคน มั่นใจปี 67 มีกระแสเงินสดในมือ 7 หมื่นล้าน

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) กล่าวแถลงผลประกอบการปีงบประมาณ 66 ว่า หลังจากอุตสาหกรรมการบินกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ ทอท. มีรายได้รวมกว่า 48,140 ล้านบาท มีกำไรสุทธิกว่า 8,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 11,087 ล้านบาท

โดยภาพรวมของการดำเนินงานด้านปริมาณการจราจรทางอากาศของสนามบิน 6 แห่ง ของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ประกอบกับอุตสาหกรรมการบินและภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว โดยมีจำนวนเที่ยวบินรวม 639,891 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.22 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 321,053 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 318,838 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารรวมทั้งหมด 100.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.31 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 53.91 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.15 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ทอท.มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 48,140.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 190.71 จากปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย รายได้เกี่ยวกับกิจการการบินจำนวน 22,265.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 205.43 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจำนวน 25,875.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 179.13 จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากธุรกิจร้านค้าปลอดอากร ธุรกิจการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ธุรกิจจัดส่งอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการภาคพื้นและซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายรวมสำหรับปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 34,248.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.81 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าจ้างภายนอก ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา

นายกีรติ กล่าวว่า ทอท.มีแผนลงทุนขยายขีดความสามารถสนามบินต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน ตั้งแต่ปี 67-72 รวมกว่า 97,000 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 67 งบลงทุน 10,000 ล้านบาท ปี 68 งบลงทุนกว่า 21,000 ล้านบาท ปี 69 งบลงทุนกว่า 24,000 ล้านบาท  ปี 70 งบลงทุนกว่า 18,000 ล้านบาท  ปี 71 งบลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท และปี 72 งบลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท โดยในปี 67 ทอท.มีแผนที่จะลงทุนโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion)  ทสภ. มูลค่าลงทุน 9,000 ล้านบาทเพื่อให้ทสภ.ห้สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 80 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะเปิดประมูลได้ปลายปี 67 ,โครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3  มูลค่า 36,000 ล้านบาท จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ ปลายปี 67 ถึงต้นปี 68 เริ่มก่อสร้างในปี 68 แล้วเสร็จในปี 73

รวมถึงโครงการพัฒนา ทชม. ระยะที่ 1 มูลค่า 8,000 ล้านบาท จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าเปิดประมูลได้ปลายปี 67 เริ่มก่อสร้างปี 68 แล้วเสร็จในปี 71

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 วงเงิน 8,300 ล้านบาท จะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบเพื่อดำเนินการออกแบบในปี 67 คาดว่าเปิดประมูลได้ไตรมาส 2 ปี 68  เริ่มก่อสร้างปี 69 แล้วเสร็จในปี  72

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันทอท.มีกระแสเงินสดประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทจากเดิมก่อนสถานการณ์โควิด-19มีกว่า 70,000 ล้านบาท แต่คาดการณ์ว่าเมื่อสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกกลับมาเติบโต และการเดินทางเข้าออกของเที่ยวบินมายังประเทศไทยและผ่านสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบ ทอท.6 แห่งต่อเนื่องจะส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินในปี 67 เพิ่มขึ้น10-20% และปริมาณผู้โดยสารปี 67 น่าจะอยู่ที่ 130-140 ล้านคน และคาดว่าจะมีกระแสเงินสดรับมากว่า 70,000 ล้านบาท มั่นใจว่าเพียงพอไม่กระทบต่อการลงทุนอย่างแน่นอน 

นายกีรติ กล่าวอีกว่า จากนโยบายวีซ่าฟรีของรัฐบาลที่ให้กับ ประเทศจีน คาซัคสถาน อินเดีย และ ไต้หวัน ส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวผ่านเข้าสนามบินของ ทอท. เพิ่มขึ้น ดังนี้ นักท่องเที่ยวจีนจากเดิม13,200 คนต่อวัน เพิ่มเป็น 16,800 คนต่อวัน หรือคิดเป็น 27.3% นักท่องเที่ยวคาซัคสถานจากเดิม 230 คนต่อวัน เพิ่มเป็น 560 คนต่อวัน, นักท่องเที่ยวอินเดีย เพิ่มขึ้น 17% จากเดิม 5,100 คนต่อวัน เป็น6,000 คนต่อวัน ส่วนไต้หวัน เพิ่มขึ้น 18%จากเดิม 3,800 คนต่อวัน เป็น 4,500 คนต่อวัน นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ผ่านเข้าออก สนามบินดอนเมืองเพิ่มขึ้น 2.5% และสนามบินสุวรรณภูมิก็เพิ่มขึ้น 7.04% ด้วยและเมื่อเทียบระหว่างไตรมาส 3/66 กับไตรมาส 4/66 พบว่ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.7% หรือหากเฉลี่ยปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้าออกต่อวันพบว่า ปัจจุบันมีกว่า 175,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นยอดปริมาณผู้โดยสารที่ใกล้เคียงกับปี 62