NRPT กดปุ่มโรงงานผลิตแพลนท์เบส ใหญ่ที่สุดในอาเซียน กำลังผลิตสูงสุด 2.5 หมื่นตัน

ผู้ชมทั้งหมด 923 

NRPT กดปุ่มโรงงานผลิตแพลนท์เบส ใหญ่ที่สุดในอาเซียน กำลังผลิตสูงสุด 2.5 หมื่นตัน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากประเทศอังกฤษ พร้อมดันไทยเป็นฐานการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชของโลก

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า โรงงาน แพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) เป็นโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืช 100% (Plant-based food) ที่ร่วมลงทุนระหว่างบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน (NRPT) บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ หรือ Plant & Bean (UK) ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% โดยในระยะแรก (เฟส 1) สามารถรองรับการผลิตได้ 3,000 ตันต่อปี ในงบลงทุนราว 300-400 ล้านบาท โดยการผติลในช่วง 1-2 ปีแรกคาดว่าจะมีคำสั่งการผลิต (ออเดอร์) ประมาณ 60-70%

โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มลูกค้าในยุโรป เช่น อังกฤษ เนเธอแลนด์ รวมถึงกลุ่มลูกค้าสหรัฐอเมริกา ส่วนในเอเชียเจรจากับกลุ่มลูกค้าในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไตหวัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นปีหน้า หลังจากได้ใบรับรองมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสากลจากสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (The British Retail Consortium : BRC) ในเดือนมกราคม 2567

ดร.บุรณิน กล่าวว่า โรงงานดังกล่าวใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในกระบวนการผลิต ลดต้นทุน และลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และ NRPT ยังได้มีความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของไทย ในการพัฒนานวัตกรรมอาหาร อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการเป็นตัวสร้างความต้องการให้เกิดปริมาณการผลิตจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการดึงเอาวัตถุดิบในประเทศมาต่อยยอดการผลิตในอนาคต เพิ่มศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารอนาคต เพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพของคนไทย

“โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) เช่น เนื้อสับ มีทบอล และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เช่น ไส้กรอก นักเก็ต และเกี๊ยวซ่า ซึ่งนอกจากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับโลก ให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัส รสชาติ และรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง อร่อย ทานง่ายแล้ว ผลิตภัณฑ์ยังมาจากพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (Non-GMO) และมีโปรตีนสูง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมอาหารให้เหมาะแก่การดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น”ดร. บุรณิน กล่าว

ส่วนการขยายในเฟส 2 นั้นต้องดูว่ามีลูกค้ามากน้อยแค่ไหน และความต้องดูให้แน่ใจว่าตลาดอาหารโปรตีนจากพืชจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน ถึงจะตัดสินใจขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 13,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 300-400 ล้านบาทเท่ากับเฟสแรกเพราะลงทุนในพื้นที่เดิมในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา และในเฟส 3 มีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 25,000 ตันต่อปี จะส่งผลให้เป็นโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมดันไทยเป็นฐานการผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก

ดร.บุรณิน กล่าวว่า จากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศถือเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รองรับการขยายตัวของตลาดอาหารแห่งอนาคต กลุ่มผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการพัฒนาของกลุ่ม NRPT โดยตลาดอาหารโปรตีนจากพืชในไทยหว่างปี 2023 – 2028 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตปีละ 6-7% ส่วนมูลค่าตลาดอาหารจากโปรตีนจากพืชของไทยมีประมาณ 1-2% ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อย่างไรก็ตามตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรปและอเมริกาที่มีสัดส่วนการบริโภคอาหารจากโปรตีนจากพืชราว 70% ในเอเชีย 18% ดังนั้นในช่วงแรกจะเน้นตลาดในยุโรปและอเมริกา