ผู้ชมทั้งหมด 2,660
“ชัชชาติ” ยื่นเรื่องให้มท.1 เสนอครม.เคาะแนวทางชำระหนี้ก้อนแรก BTS งาน E&M ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้าน ลั่นเตรียมเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 15 บาทตลอดสาย ต้นเดือน ม.ค. 67
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหาแนวทางการชาระหนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ มูลค่า 23,000 ล้านบาท ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ว่า จากการพิจารณารายละเอียดพบว่า ภาระหนี้ดังกล่าวได้ถูกรวมไว้ในการเจรจาต่อสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ซึ่งในขณะนี้กทม. ได้ส่งเรื่องให้กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาว่าจะต้องเสนอเรื่องในคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาสรุปแนวทางเรื่องนี้ก่อน หลังจากนั้นก็จะนำกลับมาพิจารณาในสภากรุงเทพมหานครสรุปแนวทางการชำระหนี้ ทั้งนี้แนวทางการชำระหนี้นั้นมี 2 แนว แนวทางที่ 1 คือใช้เงินสะสมจ่ายขาดของกทม.ที่มีอยู่กว่า 50,000 ล้านบาท แนวทางที่ 2 คือ การใช้เงินงบประมาณในการชำระหนี้ ซึ่งก็จะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด
ส่วนการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งช่วงหมอชิต – สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ 15 บาท ตลอดสายนั้นคาดว่าจะเริ่มได้ต้นเดือน ม.ค. 2567 อย่างไรก็ตามยอมรับว่าแม้จะเก็บค่าโดยสารแล้วรายได้ก็ยังต่ำกว่าค่าจ้างที่ กทม.ต้องจ่ายให้ BTSC ซึ่งส่วนต่อขยายไม่ได้เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด – 19 ปี 2562 โดยการเก็บค่าโดยสารนั้นได้แจ้งกับทาง BTSC แล้ว เพื่อให้เขาเตรียมปรับโครงสร้างค่าโดยสาร ขณะที่ผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นประมาณ 1 ล้านเที่ยวคนต่อวัน
นายชัชชาติ กล่าวถึงค่าโดยสาร 20 บาทสูงสุดตลอดสายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากระหว่างกทม.และ BTS ยังคงมีสัญญาสัมปทานระหว่างกัน หากกลับมาเก็บที่ 20 บาท ทางรัฐบาลต้องเป็นผู้อุดหนุนให้เอกชนตามรายได้ที่ลดลงไป หรือไม่ก็ต้องรอให้ BTS หมดอายุสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าในปี 2572 ก็จะสามารถเก็บค่าโดยสาร 20 บาทสูงสุดตลอดสายได้