ผู้ชมทั้งหมด 579
“บี.กริม เพาเวอร์” หวังผลการดำเนินงานปี 2567 โตต่อเนื่อง เหตุต้นทุนราคาก๊าซฯถูกลง หนุนมาร์จิ้นเพิ่ม พร้อมรับรู้รายได้เต็มปี โรงไฟฟ้า บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 2 และ 3 เปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ขณะที่ลูกค้า IU ยังเติบโต 50-60 เมกะวัตต์ ลุ้นปิดดีล M&A โครงการพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม เตรียมนำเข้าLNG ป้อน Pool Manager ลั่นปี 2573 ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน มีสัดส่วนกำลังผลิต 50% ตามเป้า 10,000 เมกกะวัตต์ หนุน EBITDA margin แตะ 35% คาดไตรมส4 ปีนี้ มาร์จิ้นดีต่อเนื่อง รับต้นทุนราคาก๊าซฯถูกลง แม้รัฐลดค่าไฟ
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน Oppday Q3/2023 BGRIM เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2566 โดยระบุว่า ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในปี 2567 ยังมุ่งมั่นขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศสู่เป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์ “GreenLeap – Global and Green” โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาโครงการในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา อิตาลี กรีซ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% ในปี 2573 หรือมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหนุน EBITDA margin ในสัดส่วน 35% และมีรายได้แตะ 1 แสนล้านบาท
โดยในปี 2567 บริษัท คาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 เนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซฯ ที่คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของกำลังการผลิตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 350- 380 บาทต่อล้านบีทียู ถูกลงจากปีนี้ ที่คาดว่าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 400-450 บาทต่อล้านบีทียู พร้อมรับรู้รายได้เต็มปีจาก โรงไฟฟ้า บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 2 และ 3 ที่มีกำลังผลิตรวม 280 เมกะวัตต์ ดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD)เต็มปี รวมถึงยังรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าอื่นๆที่ทยอย COD เช่น โครงการโซลาร์ฯ อู่ตะเภา 15 เมกะวัตต์ , โครงการในญี่ปุ่น และโครงการพลังงานลมในเกาหลีใต้ เป็นต้น อีกทั้ง บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมทั้งในรูแบบ M&A ที่เป็นการพัฒนาโครงการใหม่ และร่วมลงทุนกับพันธมิตร ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าหมายที่จะมีกำลังผลิตใหม่จากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม(IU) เพิ่มขึ้น 50-60 เมกะวัตต์จากปีนี้
“ส่วนไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่า มาร์จิ้นจะยังเติบโตเพิ่มขึ้นจากต้นทุนก๊าซฯที่ลดลง แม้ว่าภาครัฐจะปรับลดค่าไฟฟ้าลง โดยคาดว่า ราคาก๊าซเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 330 บาทต่อล้านบีทียู”
สำหรับความคืบหน้าแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) หลังจาก บริษัท ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดหาและนำเข้า Shipper LNG ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทลูก คือ บี.กริม แอลเอ็นจี จะเป็นผู้นำเข้า LNG มาป้อนสู่ Pool Manager ที่จะกำหนดราคาขายก๊าซฯเฉลี่ยรวม ทำให้คาดว่า บริษัทจะมีต้นทุนที่ดีขึ้นจากการบริหารจัดการนำเข้าก๊าซฯ และคาดว่าจะเริ่มนำเข้า LNG ได้ภายในปีหน้า
ส่วนการลงทุนโครงการ GAS to Power ในเวียดนาม บริษัท ยังรอทางรัฐบาลเวียดนามประกาศแผน PDP ฉบับที่ 8 เพื่อกำหนดอัตราค่าก๊าซฯ ให้ชัดเจนก่อน และพร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในเวียดนามต่อเนื่อง
ปัจจุบัน บริษัท มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,830 เมกะวัตต์ โดย 73% เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และ 27% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกันยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือ มีโครงการที่อยู่ในมือและมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว 4,268 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ สัดส่วน 71% และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 39% จากโครงการที่ก่อสร้างใหม่และการเข้าซื้อกิจการตั้งอยู่ในหลากหลายประเทศ พร้อมยกระดับสู่บริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก ตั้งเป้าก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)