ผู้ชมทั้งหมด 6,528
ทอท. อัดโปรฯให้ส่วนลดสายการบิน ยอมสูญรายได้20% ดึงเที่ยวบินเข้าประเทศเพิ่มอีก25% สนองนโยบายวีซ่าฟรีของรัฐบาล
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มตั้งแต่ปี 62 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการบิน ทั้งต่อจำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินที่ลดลง โดยเฉพาะในปี 64 ที่จำนวนเที่ยวบินเหลือแค่ 10% เท่านั้น และตั้งแต่มีการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 ที่ผ่านมา ทอท.ได้จัดโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินให้กับสายการบินที่เปิดเส้นทางการบินใหม่ (New Routes to Airlines) ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางด้านการบิน และเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สายการบินตัดสินใจเปิดให้บริการเส้นทางการบินใหม่รวมถึงเป็นการกระตุ้นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินให้เร็วขึ้น
โดยให้ส่วนลดกับสายการบินที่ทำการบินในเส้นทางการบินใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางการบินของสายการบินตนเอง ที่ทำการบินระหว่างวันที่ 1 พ.ย.60 ถึงวันที่ 31 ตุ.ค. 62 ซึ่งสายการบินจะต้องเริ่มทำการบินหลังวันเริ่มตารางการบินฤดูหนาว 2023 โดยต้องเป็นเที่ยวบินแบบประจำระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงเที่ยวบินพิเศษสำหรับเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสาร (Passenger Flight) ทั้งนี้ โครงการฯมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 66 ถึงวันที่ 31 ต.ค.68
อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน ด้วยมาตรการวีซ่าฟรีสำหรับนักท่องเที่ยว 4 ประเทศ คือจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม จึงได้มอบนโยบายการดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ทอท. ได้แก่ การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินต่อสัปดาห์ และบริหารจัดการพื้นที่ในท่าอากาศยาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายวีซ่าฟรีโดยมีระยะเวลาโครงการฯ เป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.66 – 29 ก.พ.67 ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐในเรื่องวีซ่าฟรี ทอท. จึงได้จัดทำ โครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินหรือ Performance-Based Incentive Scheme ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง
โดย ทอท. ได้นำรายละเอียดโครงการนี้ให้ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (AOC) รับทราบทราบ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นการดำเนินงานของสายการบินในการเพิ่มปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยจะให้การสนับสนุนสายการบินที่ทำการบินในเที่ยวบินแบบประจำระหว่างประเทศ(International Scheduled Flight) รวมถึงเที่ยวบินพิเศษ (Extra Flight) และเที่ยวบินแบบไม่ประจำหรือเช่าเหมาลำระหว่างประเทศ (Charter Flight) ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1. ให้ส่วนลดกับสายการบินที่สามารถเพิ่มเที่ยวบินนอกเหนือจากจำนวนเที่ยวบินของสายการบินตนเองตามตารางการบินที่ได้รับการอนุมัติ ณ วันที่ 8 กันยายน 2566 ซึ่งมีจำนวน 194,579 เที่ยวบิน
2. สายการบินจะได้รับส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน 175 บาทต่อผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 1 คน แต่จะต้องไม่เกินร้อยละ 75 ของค่าบริการขึ้นลงของอากาศยานในแต่ละประเภท โดยมีระยะเวลา 5 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.66 ถึง 31 มี.ค.67
นายศิโรตม์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้รายไดของทอท.ลดลงประมาณ 20% แต่จะมีรายได้ที่นอกเหนือจากธุรกิจการบินเข้ามาเพิ่มแทน ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ที่จะเกิดการจ้างงานจำนวนมาก ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปี 67 จะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 80% เมื่อเทียบกับปี62 ในช่วงก่อนเกิดโควิค-19 ที่มีผู้โดยสาร จำนวน 141 ล้านคนต่อปี
อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานในสังกัด ทอท. ทุกแห่งมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยได้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งในส่วน Landside และ Airside ของท่าอากาศยาน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางผ่านเข้า – ออก ท่าอากาศยาน ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วที่สุด โดยมาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้บริการ ภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของไทยแล้วยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของ ทอท. เพื่อมุ่งสู่การเป็นสนามบินชั้นนำระดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านนายธีระ บัวศรี ประธาน AOC กล่าวว่า คาดหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 25% และผู้โดยสารระหว่างประเทศของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น และกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยกลับมามีเสถียรภาพเทียบเท่าหรือมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้สายการบินเข้ามาในประเทศไทยให้มากขึ้นอาจจำเป็นต้องเปิดตลาดการบินใหม่ๆ เช่น ในแถบยุโรป เป็นต้น เนื่องจากตลาดจีนยังไม่กลับเข้ามา และมีแนวโน้มว่าอาจจะไม่กลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ด้วย
สำหรับการรองรับการให้บริการภาคพื้นนัั้น ปัจจุบันที่สนามบินสุวรรณภูมิมีสายการบินเข้ามาใช้บริการจำนวน 98 สายการบิน มีผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้นจำนวน 2 ราย คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS) แต่หากไม่เพียงพอจะมีบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) เข้ามาให้บริการเสริมอีก 1 ราย มั่นใจว่าจะสามารถให้บริการเพียงพอกับจำนวนผู้โดยสารที่จะเข้ามาอย่างแน่นอนท. อัดโปรฯให้ส่วนลดสายการบิน ยอมสูญรายได้20% ดึงเที่ยวบินเข้าประเทศเพิ่มอีก25% สนองนโยบายวีซ่าฟรีของรัฐบาล