ผู้ชมทั้งหมด 13,689
“สุริยะ” เผยทูตเยอรมันนีรับปากชงรัฐบาล-ชวนไทยโรดโชว์แลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้าน ด้านเอกชนเตรียมลงทุนให้บริการภาคพื้น-ครัวการบินที่สุวรรณภูมิ พร้อมสนใจลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา
เมื้อวันที่ 7 พ.ย.ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. คมนาคม เปิดเผยภายหลังให้ นายแอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิลเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยและคณะเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง ว่า เยอรมันให้ความสนใจโครงการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) เนื่องจากเห็นว่า เป็นโครงการที่สามารถดึงนักลงทุนเข้ามาร่วมได้ โดยจะนำเรื่องไปแจ้งให้รัฐบาลเยอรมันทราบถึงรายละเอียดและเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุน ทั้งนี้ทางเยอรมันนี ยังชวนไทยไปเดินสายประชาสัมพันธ์โครงการ (โรดโชว์) ที่เยอรมันด้วย
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ทางเยอรมันยังให้ความสนใจลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนจากประเทศเยอรมันได้เคยเข้าร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินของไทยมาแล้ว รวมถึงยังมีบริษัท ลุฟท์ฮันซ่า สายการบินเยอรมัน จำกัด และ บริษัท แอลเอสจี สกายเชฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความสนใจโครงการเอกชนร่วมลงทุน (PPP) การให้บริการภาคพื้นและครัวการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.อีกด้วย ซึ่งทั้ง 2 บริษัท ล้วนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการให้บริการภาคพื้นและครัวการบินอยู่แล้ว
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ไทยและเยอรมันนียังได้มีการหารือถึงโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและการขนส่งอย่างยั่งยืนอีกหลายโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีกรอบแนวทางพัฒนาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น Green Transport เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และ PM 2.5 โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในระบบการเดินทางและขนส่งทั้งในรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสารและระบบการขนส่งต่างๆ รวมทั้งการบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจราจร
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ขณะนี้โครงการแลนด์บริดจ์ อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EHIA) และเตรียมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนกลุ่มย่อยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง ในช่วงเดือน ธ.ค. 66 จากนั้นจะประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการศึกษา ช่วงเดือน มี.ค. 67 และ คาดจะสามารถสรุปผลการศึกษาเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการช่วงปลายปี 67
อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมมีแผนโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่เดือน พ.ย.66-เดือน ม.ค. 67 ทั้ง ประเทศสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูไบ ซาอุดิอาระเบีย ประเทศกลุ่มยุโรป อาทิ เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศในกลุ่มเชียตะวันออก อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยเป็นประเทศที่มีเงินทุนและเทคโนโลยีในการเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการสายการเดินเรือ-ท่าเรือ รวมทั้งบางประเทศ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พยายามหารูปแบบธุรกิจที่จะนำเงินจากธุรกิจน้ำมันไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ หลังจากโรดโชว์เสร็จแล้ว ประเทศไทยมีแผนกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอประกวดราคาได้ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.68 จากนั้นจะนำเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลโครงการภายในเดือน ส.ค.68 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ก.ย.68 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี และน่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือน ต.ค.73
สำหรับผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของกระทรวงคมนาคมนั้น เบื้องต้นจะใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท, โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท, โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท