ผู้ชมทั้งหมด 2,792
“ไทยสมายส์กรุ๊ป” ตั้งเป้าคืนทุนใน 5 ปี เดินหน้าเพิ่มฟีดรถ 3,100 คันในปี 67 พร้อมเพิ่มบริการรถเมล์ร้อน EV ครั้งแรกของโลก ราคาประหยัด 10 บาทตลอดสาย 10 เส้นทาง เริ่ม 6 พ.ย.นี้
นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทฯ ให้บริการเดินรถโดยสารประทาง ไทย สมายล์ บัส โดยใช้รถเมล์พลังงานไฟฟ้า100% ปัจจุบันมีเส้นทางเดินรถทั้งสิ้น 123 เส้นทาง โดยมีรถที่ให้บริการประชาชน จาก 800 คัน ในช่วงต้นปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,200 คันในเวลานี้ และในปี 67 จะมีรถเข้ามาให้บริการเพิ่มเป็น 3,100 คันซึ่งจะเต็มฟีดตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนพนักงานทั้งหมดจำนวน 6,000 คน ขณะที่ไทย สมายล์ โบ้ท เป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้ามีจำนวน 44 ลำ ให้บริการอยู่ 35 ลำ อีก 9 ลำ อยู่ระหว่างการทยอยจัดหาให้ครบตามแผนที่วางไว้
สำหรับผลประกอบการของไทยสมายล์ กรุ๊ปนั้นหลังจากดำเนินงานมาประมาณ 2 ปี ยังไม่ค่อยดีนัก ยังอยู่ในภาวะขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 200 ล้านบาทต่อเดือน จากที่ลงทุนไปแล้วเกือบ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรถเมล์ไฟฟ้าประมาณ 18,000 ล้านบาท และ เรือไฟฟ้าประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยในส่วนของการเดินรถมีรายได้เฉลี่ยต่อวันประมาณ 5-6 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 3,000 บาทต่อวัน มีผู้โดยสารใช้บริการรถเมล์ไฟฟ้าเฉลี่ย 2.5-2.8 แสนคนต่อวัน ส่วนเรือไฟฟ้ามีรายได้เฉลี่ยต่อวันประมาณ 1 แสนบาท มีผู้ใช้บริการเรือไฟฟ้าประมาณ 5 พันคนต่อวัน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากที่บริษัทฯยังอ่อนเรื่องการประชาสัมพันธ์ และอีกส่วนน่าจะมาจากที่ประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์โดยสารยังคุ้นชินกับรถและหมายเลขเส้นทางเดินรถเดิม ซึ่งแต่ขณะนี้บริษัทฯได้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงแล้ว
ดังนั้นตั้งเป้าว่า เมื่อมีรถให้บริการเต็มฟีด จะมีรายได้ประมาณ14-15 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,500 บาทต่อคันต่อวัน และจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 500,000 คนต่อวัน ส่วนเรือไฟฟ้าตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ประมาณ 500,000 บาทต่อวัน หรือมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 20,000 คนต่อวัน ทั้งนี้หากการดำเนินงานเป็นไปด้วยดีน่าจะคืนทุนภายใน5 ปี หรือในช่วงปี 69-70
นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวอีกว่า บริษัทได้เตรียมเปิดให้บริการ รถเมล์ไฟฟ้าราคาประหยัด หรือ “รถEV สีส้ม” ซึ่งถือเป็นรถร้อนEV ที่ให้บริการครั้งแรกในโลก จำนวน 60 คัน เพื่อนำไปเสริมการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่ต่ง ๆ มากขึ้น โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 450 ล้านบาท เฉลี่ยคันละประมาณ 7.5ล้านบาทแพงกว่ารถEVปรับอากาศ ที่มีต้นทุนประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน เนื่องจากบริษัทต้องนำรถ EV ปรับอากาศมาติดตั้งเทคโนโลยีที่เป็นอุปกรณ์ปิดช่องแอร์ ทำให้มีต้นทุสูงขึ้นประมาณ5 แสนบาทต่อคัน โดยจะเก็บค่าโดยสารราคาเดียว 10 บาทตลอดสายตามข้อกำหนดใบอนุญาตของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่มีกำหนดนโยบายว่าเอกชนผู้ได้รับใบนุญาต ต้องดำเนินการจัดหาให้มีรถร้อน ออกให้บริการประชาซนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
โดยในระยะ (เฟส) แรกจะนำร่องให้บริการใน 10 เส้นทาง เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.66 เป็นต้นไป ดังนี้
1.สาย4-26 (167) เคหะธนบุรี – สถานีรถไฟฟ้าลุมพินี 5 คัน
2.สาย 2-35 (110) ประชานิเวศน์ 3 – เทเวศร์ 5 คัน
3.สาย1-13 (126) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ – คลองตัน 6 คัน
4.สาย1-44 (113) มีนบุรี – หัวลำโพง 8 คัน
5.สาย 1-45 (115) สวนสยาม – บางรัก 6 คัน
6.สาย1-15 (150)ท่าเรือปากเกร็ด – มีนบุรี 6 คัน
7.สาย1-6(52) ท่าเรือปากเกร็ด – สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) 5 คัน
8.สาย2-8(51)วัดปรางค์หลวง – บางเขน 5 คัน
9.สาย4-51 (124)หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา -สนามหลวง 6 คัน
10.สาย 4-63(547) หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา – ถนนตก 8 คัน
ทั้งนี้ผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าโดยสารได้ทั้งรูปแบบ HOP Card ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ เดลิ แมกซ์ แฟร์ เดินทางไม่จำกัดในราคาเพียง 40 บาทตลอดสาย
ปัจจุบันไทย สมายล์ โบ้ท เป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รูปแบบใหม่ ขนาด 19เมตร เป็นเรือ Catamaran พลังงานสะอาด 100% ซึ่งมีความแตกต่างในทางกายภาพจากเรือรูปแบบเดิมของบริษัท ด้วยขนาดที่กระทัดรัดคล่องตัวมากขึ้น เหมาะที่จะเดินเรือในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในทุกสภาพอากาศแม้ช่วงน้ำขึ้น
โดยจะเข้าไปบริการในเส้นทาง Urban และ City Line ก่อนในช่วงแรก แล้วจึงขยายไปเส้นทาง Metro Line ตามความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละเส้นทาง สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้เดินทาง โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คาดว่าจะสามารถเพิ่มความถี่ให้บริการได้ ทุก 7-10 นาที พร้อมทั้งยังสามารถให้บริการกับลูกค้าองค์กร เช่น การเช่าเหมาลำ การวิ่งตามฟิดเส้นทาง หรือเรือนำเที่ยวได้อีกด้วย
นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ได้รับทราบถึงความเห็นของผู้ใช้บริการ ที่อาจยังพบกับความไม่สะดวกในบางส่วน จึงได้ทำการแก้ไขต่อเนื่อง เช่น รถเมล์ไฟฟ้าไม่จอดรับ ผู้โดยสาร วิ่งเลนขวา ทางบริษัทได้ลงทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมครบวงจร ที่จะปั้นพนักงานขับรถ “กัปตันเมล์” รุ่นใหม่เข้ามาให้บริการด้วยมาตรฐานที่ยกระดับขึ้น ทั้งยังปรับสิทธิประโยชน์รายได้ของพนักงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรม
นอกจากนี้บริษัทได้เริ่มทดลองใช้ระบบ Fleet management ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กำกับการเดินรถ สามารถตรวจการเข้าป้าย ความเร็ว ปริมาณผู้โดยสารบนรถ ไปจนถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่-พนักงานผู้ให้บริการ ว่า ง่วงนอน หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ จึงขอให้มั่นใจว่า การบริการของ TSB จะปรับปรุงแก้ไข พัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ
ส่วนกรณีรถผิดกฎหมายวิ่งทับเส้นทางของไทยสามยล์บัสนัั้นยังพบว่ามีปัญหาเส้นทางทับซ้อนอยู่ 38 เส้นทาง โดย 5 เส้นทาง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะเลิกให้บริการ 1 พ.ย.นี้ ส่วนอีก 33 เส้นทาง เป็นของรถร่วม ขสมก. อยู่ระหว่างการเจรจากับ ขบ. เพื่อหาทางออกให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ 1 เส้นทาง1 ผู้ประกอบการต่อไป