ผู้ชมทั้งหมด 8,833
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่างๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน
ทั้งนี้ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 การบินไทย เปิดตัวเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยการนำเอาเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิลจากขวดน้ำดื่มพลาสติก PET ที่ให้บริการบนเครื่องบินมาถักทอตัดเย็บเป็นเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง ซึ่งยังคงความงดงามในความเป็นไทยที่เพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ เนื่องจากสายการบินไทยให้บริการกว่า 80% เป็นต่างชาติ 20% ให้บริการภายในประเทศ ซึ่งก็ได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติเปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่างๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ
สำหรับเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่นำเอาเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิลมาตัดเย็บนั้นจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และคาดว่ากลางปี 2567 จะสามารถให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเปลี่ยนมาใส่เครื่องแบบที่ตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิลได้ครบทุกสายการบินที่ทำการบิน
นายชาย กล่าวอีกว่า การนำเอาขวดน้ำดื่มพลาสติก PET ที่ให้บริการบนเครื่องบินมาเป็นส่วนผสมเส้นไหมไทย เพื่อตัดเย็บเป็นเครื่องแบบต้อนรับบนเครื่องนั้น 1 ชุด ต้องใช้ขวดประมาณ 54 ขวด ซึ่งการตัดเย็บเครื่องแบบต้อนรับบนเครื่องหญิงมีต้นทุนต่ำกว่าเครื่องแบบต้อนรับบนเครื่องบินในปัจจุบัน นอกจากนี้การบินไทยยังได้พิจารณานำวัสดุอื่นๆ ที่ใช้บนเครื่องบินมารีไซเคิล เช่น แปรงสีฟัน ช้อน ผลิตเป็นของต่างๆ มาใช้บนเครื่องบินพร้อมกันนี้การบินไทยยังได้นำเอาเครื่องแบบเก่าของพนักงานต้อนรับบนเครื่องมารีไซเคิลแล้วถักทอขึ้นมาเป็นเส้นด้ายใหม่ เพื่อตัดเย็บเป็นเสื้อโปโลแจกให้พนักงาน โดยเครื่องแบบเก่าของพนักงานประมาณ 1 ตันจะสามารถนำมารีไซเคิลแล้วถักทอขึ้นมาเป็นเส้นด้ายใหม่ตัดเย็บเป็นเสื้อโปโลได้ประมาณ 500 ตัว
นายชาย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯกำหนดไว้