ผู้ชมทั้งหมด 2,598
กทพ. จัดสรรงบ 20 ล้านบาทติดตั้งกล้องจับความเร็ว จับรถวิ่งไหล่ทางบนทางด่วน ดีเดย์ 5เมย เริ่มจับปรับ 1,000 บาท
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)เปิดเผยว่า กทพ.ทำแผนเร่งลดอุบัติเหตุโดยจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านบาท ดำเนินการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วและป้ายเเจ้งเตือนความเร็ว (Your Speed Sign) บนทางด่วน จำนวน 4 สายทาง รวม 17 จุด โดยติดตั้งเสร็จแล้วจำนวน 2 สาย คือทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 4 จุด เเละทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 5 จุด
ส่วนอีก 2 สายทางคือ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 4 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จกันยายน 2564 เเละทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 4 จุด จะเเล้วเสร็จเดือนกันยายน 2565 นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งกล้องตรวจจับรถยนต์ที่วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในไหล่ทาง จำนวน 32 จุด บนทางพิเศษ 4 สายทางเช่นกัน โดยขณะนี้ติดตั้งเสร็จแล้ว 1 สายทาง คือทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 10 จุด ส่วนอีก 3 เส้นทาง อยู่ในระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2564ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานครจำนวน 6 จุด ทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 8 จุด เเละทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 8 จุด
ทั้งนี้กทพ. จะเริ่มทยอยติดตั้งกล้องจับความเร็ว และรถที่ฝ่าฝืนวิ่งในช่องไหล่ทางแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. นี้เป็นต้นไปตำรวจจะเริ่มจับปรับผู้ใช้ทางที่ขับในช่องไหล่ทางบนทางด่วน โดย กทพ.จะส่งข้อมูลจากกล้องวงจรปิดที่จับภาพทะเบียนรถที่กระทำความผิด ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำการออกไปสั่งส่งไปยังบ้านเจ้าของรถ เมื่อประชาชนเห็นกล้องจะไม่กล้าขับบนไหล่ทาง เชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุบนทางด่วนได้ ที่ผ่านมาเราสบายกันมาเยอะแล้ว ทำผิดกฎหมายมาเยอะ ลองไม่ทำผิดกฎหมายดูบ้าง ต่อไปนี้ถ้าเจอไหล่ทางก็ต้องกลั่นใจเลยว่าจะไม่ขับเข้าไปไม่งั้นถูกปรับ 1,000 บาท
นายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่า กทพ. กล่าวว่า กรณีฝ่าฝืนวิ่งบนไหล่ทางด่วน จะถูกปรับ 1พันบาท ส่วนกรณีขับรถแร็วเกินกว่า 120 กม./ชม ตามกฎหมายกำหนดจะถูกปรับ 500 บาท อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. อยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เพื่อปรับลดอัตราความเร็วสูงสุดบนทางด่วนให้เหลือไม่เกิน100 กม./ชั่วโมง จากเดิมไม่เกิน 120 กม./ชั่วโมง เพื่อเร่งลดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้จากปีที่ผ่านมา 2563 นั้นพบว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางพิเศษหรือทางด่วน มากกว่า 800 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 440 ราย และเสียชีวิต จำนวน 7 รายโดยเกือบ 50 %ของอุบัติเหตุ เกิดจากผู้ใช้ทางขับรถเร็ว และเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน