ผู้ชมทั้งหมด 507
GULF ลงนามกับกฟผ.ซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 12 โครงการรวม 649.3 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสัญญา 25 ปี กำหนด COD ปี 67-68 พร้อมวางเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 40% ในปี 78
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า ตามที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อลดอัตราค่าไฟฟ้าและมุ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง
โดยกลุ่มบริษัท GULF ได้ยื่นข้อเสนอตามระเบียบในการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว และได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้น กลุ่มบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด ในสัดส่วน 100% ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 25 ปี เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) จำนวนรวม 12 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 649.31 เมกะวัตต์ และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ระหว่างปี 2567-2568
ทั้งนี้โครงการที่มีการลงนามในสัญญา PPA ทั้ง 12 โครงการนั้นประกอบด้วย
- บริษัท แสงไทยพลังงาน จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 58 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2567
- บริษัท พลังงานรุ่งเรือง จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 54 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2567
- บริษัท สุริยาพัฒน์ จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 48 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2567
- บริษัท แสงพัฒน์ พลังงาน จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 58.7 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2568
- บริษัท ไทยพัฒน์ โซล่าร์ จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 51 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2568
- บริษัท สกาย เพาเวอร์ จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 48 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2568
- บริษัท อีสาน คลีน เทค จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 37.8 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2568
- บริษัท ราชา โซล่าร์ จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 37.8 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2568
- บริษัท บรีซแอนด์ไชน์ เพาเวอร์ จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 75 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2567
- บริษัท ดวงตะวันพลังงาน จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 60 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2567
- บริษัท เอ็นเนอร์ยี เฟิร์ส จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 61 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2568
- บริษัท พัฒนาโซลาร์ จำกัด กำลังการผลิตตามสัญญา 60 MW เปิดดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2568
โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานมีอัตราขายไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 2.1679 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และ 2.8331 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ตามลำดับ ตลอดอายุสัญญา ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ จะช่วยลดความผันผวนจากราคาเชื้อเพลิง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมให้ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำตลอดอายุสัญญา เนื่องจากโครงการฯ มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปัจจุบัน
ทั้งนี้การพัฒนาโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนของบริษัทฯ ที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ภายในปี 2578 โดยอนาคตจะมีการทยอยลงนามสัญญาเพิ่มเติมสำหรับโครงการที่มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ระหว่าง 2569 – 2573