ผู้ชมทั้งหมด 10,736
“สุรพงษ์” เร่งรฟม.เดินหน้าแผนแม่บทก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สี (ส้ม น้ำตาล ม่วงใต้) ชี้ต้องนำนโยบายค่าโดยสาร 20 บาท ใส่ในรายละเอียดเงื่อนไขการประมูล ด้านผู้ว่า รฟม.คาดรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเสนอครม.ได้ต้นปีหน้า ส่วนสายสีส้มรอศาลปกครองสูงสุดตัดสิน
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจราชการและมอบนโยบายการดำเนินงานแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด โดยมุ่งเน้นความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ รฟม. ถือเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในด้านการเดินทาง และการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งในวันนี้ (18 ต.ค.) ตนได้ติดตามรายละเอียดแต่ละโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานอยู่ในขณะนี้ และโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุนในอนาคตและจะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงติดตามรายละเอียดผลประกอบการของรฟม. ด้วย
สำหรับโครงการที่ต้องเร่งนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. มี 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ตนได้สั่งการให้รฟม.ศึกษาในรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคาใหม่ (TOR) โดยให้นำเอานโยบายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทไปพิจารณาใส่ไว้ใน TOR ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร หรือมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เนื่องจากในเงื่อนไขเดิมกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้ที่ 15 – 45 บาท ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มคงต้องรอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดให้เป็นที่สิ้นสุดก่อน จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถนำเสนอครม.ได้ในช่วงไหน ซึ่ง รฟม. ยืนยันว่าได้ดำเนินการคัดเลือก ตามกระบวนการตามพ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง, ระเบียบพัสดุ และพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 อย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว
นอกจากนี้ตนยังได้เน้นย้ำให้ รฟม. ดำเนินการตามแผนงานที่สำคัญของหน่วยงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (MRT สายสีชมพู) ให้เร็วขึ้น (จากแผนเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2567) และยึดถือหลักความพร้อมของงานและความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญสูงสุด โดยคาดว่าจะสามารถเปิดทดลองเดินรถเสมือนจริงได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ และเปิดให้บริการประชาชนพร้อมเก็บค่าโดยสารได้ประมาณเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. พร้อมขานรับนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” และข้อสั่งการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดย รฟม. เตรียมบูรณาการทำงานร่วมกับ รฟท. และธนาคารกรุงไทย จำกัด ในการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบ EMV Contactless ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับการจัดเก็บค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ของ รฟม. และรถไฟชานเมือง สายสีแดง ของรฟท. ในอัตราค่าโดยสาร 2 สาย สูงสุด 20 บาท รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม พร้อมกันนี้จะเร่งรัดกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. ทุกสายให้มีความก้าวหน้าตามแผนงาน เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
สำหรับโครงการตามแผนแม่บทปัจจุบัน รฟม.มีโครงการที่ต้องดำเนินการตามแผนอยู่ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือ สายสีม่วงใต้ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร กรอบวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22 กิโลเมตร
โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลนั้นในขณะนี้รฟม. จะต้องศึกษาในรายละเอียด TOR ใหม่ โดยนำเอานโยบายเรื่องค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทมาพิจารณาใส่ในรายละเอียด TOR ด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 2 เดือน จากนั้นคาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมได้ในเดือนมกราคม 2567 หากไม่มีข้อแก้ไขอะไรก็คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อครม.ได้ต้นปี 2567 เปิดประมูลคัดเลือกเอกชนได้กลางปี 2567 และเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2571 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีกรอบวงเงินลงทุนราว 41,720 ล้านบาท
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องรอการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด โดยปกติแล้วคาดว่าจะใช้ระยะประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นถึงจะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ อย่างไรก็ตามหาก ครม. มีมติให้ดำเนินการตามนโยบายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มด้วยก็ไปเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เอกชนผู้ชนะการประมูลใหม่ เนื่องจากโครงการนี้ปัจจุบันได้เจรจารายละเอียดในสัญญาไปแล้ว สำหรับค่าโดยสารที่กำหนดไว้ในสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม มีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท