ผู้ชมทั้งหมด 741
“มนพร” ตั้งเป้ากทท. ต้องโกยกำไร 7 พันล้าน ปี 67 พร้อมเร่งสร้างทางด่วน S1 เชื่อมท่าเรือแก้ปัญหาจราจรติดขัดหนุนท่าเรือกรุงเทพรับเรือครุยส์ เสริมท่องเที่ยวดึงรายได้เข้าประเทศ
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมมอบนโยบาย พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน ของ กทท. ว่า คนมีนโยบายให้ กทท. ดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ด้วยความโปร่งใสที่สุด ส่วนผลการดำเนินงานนั้นให้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 67 ต้องมีกำไรประมาณ 7 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีนโยบายมุ่งเน้นให้ กทท.ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมมุ่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งและบูรณาการเชื่อมต่อการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งให้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ
นางมนพร กล่าวว่า ขอให้ กทท. ส่งเสริมต่อยอดระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และพัฒนาระบบท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมของท่าเรือ เ รวมทั้งนำระบบอัตโนมัติ (Automated Operation) ที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในการให้บริการเพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Port
รวมทั้งให้มุ่งสู่การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวร่วมกับห่วงโซ่อุปทาน (Green Port Supply Chain) ส่งเสริมการเป็นท่าเรือที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Port) รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด อาทิ การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า
ขณะเดียวกันให้สนับสนุนการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล โดยพิจารณาการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) เป็นท่าเทียบเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) บริเวณตึก OB สำหรับเทียบท่าเรือสำราญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อรองรับผู้โดยสารกว่า 6,000 คน โดยให้ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่พักคอย และห้องน้ำ เนื่องจากปัจจุบันเรือครุยส์ได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หรือจาก 30 ลำในปี 66 เพิ่มขึ้นเป็น 60 ลำในปี67
ขณะที่ท่าเรือกรุงเทพ มีเรือครุยส์เริ่มกลับมาเทียบท่าในปี 66 แล้ว 1-2 ลำ จากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีกว่า 10 ลำ ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1,000-2,000 คัน ดังนั้น ขอให้กทท. ไปประสานกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.), กรมศุลกากร เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับ และเพิ่มทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำกับทางถนนเข้าเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือการท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริป (One Day Trip) โดยให้ได้ข้อสรุปภายในปี 67
นางมนพร กล่าวต่อว่า ตนยังเร่งให้ กทท.ผลักดันโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุน 50% และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 50% คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 67 เพื่อลดผลกระทบปัญหาจราจรระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับการจราจรบนท้องถนนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ปัจจุบันโครงการผ่านขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และนำเสนอผลการศึกษาไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ช่วงไตรมาส 2 ของปีงบฯ 67
ด้าน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ในส่วนของโครงการ S1 นั้น อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ก่อนที่ กทพ. จะเป็นผู้ดำเนินการการประมูล และน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 67 ก่อนเปิดให้บริการในปี 70
อย่างไรก็ตามโครงการ S1 จะมีชุมชนท่าเรือที่ได้รับผลกระทบจำนวน 101 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาแนวทางออกที่เหมาะสม เบื้องต้นจะมี3ทางเลือก คือ 1.ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ กทท.เตรียมก่อสร้างเป็นที่พักอาศัยในลักษณะคอนโดมิเนียม 2.ย้ายไปอยู่พื้นที่ย่านหนองจอก และ 3.รับเงินชดเชย ทั้งนี้ กทท.จะเร่งดำเนินการหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น ขณะนี้ กทท. ได้ส่งมอบงานก่อสร้างงานทางทะเลในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1), พื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date 2) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) คาดว่า จะส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F ขนาด 1,000 เมตร ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาได้ภายในกลางปี 67
ส่วนที่ 2 งานจ้างเหมา ก่อสร้างโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค วงเงินประมาณ 7 พันล้านบาทนั้น อยู่ในขั้นตอนการจำหน่ายเอกสารการประกวดราคา ครั้งที่ 2 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ หลังจากครั้งที่ 1 มีผู้ยื่นเสนอเอกสารการประมูลรายเดียว ในส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนงานที่ 4 งานติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ระหว่างการทบทวนการออกแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 67
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 66 ของ กทท. นััน มีรายได้ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท มีผลกำไร 6.89 พันล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 72 ปีนับตั้งแต่เปิดการดำเนินการ ส่วนผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือในปี 66 นั้น ท่าเรือกรุงเทพ มีตู้สินค้าผ่านท่า 8.5 ล้าน ที.อี.ยู. ขณะที่ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) มีตู้สินค้าผ่านท่า 1.2-1.3 ล้าน ที.อี.ยู.