ผู้ชมทั้งหมด 12,154
“สุรพงษ์“ เล็งรื้อแผนฟื้นฟูรฟท. หลังยังขาดทุนสะสมกว่า 2 แสนล้าน เร่งแยกบัญชีเชิงสังคม PSO-เชิงพาณิชย์ ออกจากกัน เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนขยายการให้บริการขนส่งสินค้าทางราง เปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาใช้รางมากขึ้น ขณะที่การจัดเก็บค่าโดยสารชั้น 1-2 ต้องเก็บตามจริง
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันพุธ ที่ 11 ต.ค.นี้ ตนจะไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งจากการศึกษารายละเอียดข้อมูลของรฟท. ในเบื้องต้นพบว่า สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการก่อน คือ แผนฟื้นฟูกิจการ รฟท. ซึ่งปัจจุบัน รฟท. ประสบปัญหาการขาดทุนสะสมจากการดำเนินการรวมกว่า 200,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถหาแนวทางในการลดขาดทุน ได้อย่างจริงจัง ขณะที่รฟท. มีรางรถไฟครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 4,000 กม. โดยตนมมีนโยบายจะให้ รฟท. แยกบัญชีการดำเนินการเชิงสังคม(PSO) และ เชิงพาณิชย์ แยกออกจากกันเพื่อให้รู้ต้นทุน รายได้ ให้ชัดเจน
ทั้งนี้ในการแยกบัญชีเชิงสังคม และ เชิงพาณิชย์ ออกจากกันจะทำให้ รฟท. รู้ต้นทุนในการบริหารจัดการ ขณะที่การจัดเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟนั้นเห็นว่าค่าโดยสารในชั้น 2 และ ชั้น1 ควรที่จะจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตามต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้ค่าโดยสารส่วนนี้สะท้อนต้นทุนของการบริการ และบริหารจัดการตามจริง และสามารถนำค่าโดยสารส่วนนี้ีมาอุดหนุนค่าโดยสารของผู้มีรายได้น้อย ในชั้น 3 ได้ในรูปแบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังพบว่า รฟท. ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพองค์กรที่มีอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟทั่วประเทศ ที่มีกว่า 4,000 กม. ขณะที่การขนส่งสินค้าทางรางเป็นการขนส่งที่มีราคาต้นทุนถูกกว่าการขนส่งในระบบอื่นๆ และจะเห็นว่าในปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางรางในประเทศ มีสัดส่วนการขนส่งเพียง 20%เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และ รฟท. ก็ไม่ได้เปิดกว้างที่จะนำรางรถไฟที่มีมาบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่รฟท. ไม่ใช้ราง ดังนั้นนโยบายจะเน้นและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าจากภาคเอกชนเข้ามาใช้ระบบรางของ รฟท.ในการขนส่งสินค้ามากขึ้น ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์จากรางที่มีแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับ รฟท. เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานปัจจุบันของ รฟท.เดิมจะมีการตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท ในส่วนนี้จะต้องมาดูในรายละเอียด และทำให้มีความชัดเจน ซึ่งได้รับรายงานว่าดำเนินการไปแล้วคือ บริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินคือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)และขณะนี้อยู่ระหว่างการโอนสัญญาและสิทธิ ซึ่งตรงนี้ รฟท. ต้องเร่งดำเนินการว่าจะมีทรัพย์สินที่จะเพิ่มรายได้ในส่วนนี้อย่างไร ส่วนบริษัทลูกที่เหลือ คือ บริษัทลูกเดินรถ และซ่อมบำรุง ซึ่งจะดำเนินการหลังจากนี้ หากดำเนินการได้ก็จะทำให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มรายได้ให้รฟท.ได้