ผู้ชมทั้งหมด 2,092
GPSC คิกออฟโครงการ “เพาะกล้า ฟื้นป่า สร้างชีวิต” นำร่องพื้นที่แรก 230 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ จ.เลย พร้อมขยายพื้นที่ปลูกป่า 1,000-1,500 ไร่ต่อเนื่องทุกปี ตั้งเป้าครอบคลุมพื้นที่ 1 หมื่นไร่ ในปี 2573 เพิ่มสัดส่วนแหล่งดูดซับคาร์บอนฯ สู่เป้าหมาย Net Zero ขององค์กรภายในปี 2603 สอดรับการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. กล่าวว่า GPSC ได้เปิดโครงการ “เพาะกล้า ฟื้นป่า สร้างชีวิต” ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูเขาแก้ว ป่าดงปากชม ป่าโคกผาดำ ป่าโคกหนองข่า และป่าภูบ่อบิด ต.นาดอกคำ อ.นาด้วง จ.เลย ภายใต้โครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่ ของกลุ่ม ปตท. และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้และเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย ตามเป้าหมายในการบริหารจัดการความยั่งยืนของ GPSC ที่สอดรับกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้ได้ภายในปี 2603
ทั้งนี้ GPSC ได้ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าตามเจตนารมณ์ของกลุ่ม ปตท. ให้ครบ 10,000 ไร่ ภายในปี 2573 และจะบำรุงรักษาป่าต่อเนื่องรวมไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยในปีแรกนี้ GPSC ได้นำร่องโครงการปลูกป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ใน อ.ปากชม และ อ.นาด้วง จ.เลย จำนวน 230 ไร่ ซึ่งได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากในอดีตผืนป่าแห่งนี้เคยมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก แต่ปัจจุบันได้เสื่อมโทรมลง จึงจำเป็นในการพลิกฟื้นผืนป่าแห่งนี้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยร่วมกับกรมป่าไม้ในการปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่คาดว่าจะได้ 114,237.5 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า พร้อมแผนงานที่จะทยอยปลูกประมาณปีละ 1,000-1,500 ไร่ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่จะสามารถนำไปสู่การแบ่งปันคาร์บอนเครดิตในการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย หรือ T-VER
โดยที่ผ่านมาโครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่ GPSC ได้ร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการเพิ่มพื้นที่ป่าและบำรุงรักษาป่าใหม่ ฟื้นฟูป่าเดิมที่เคยปลูกไป ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ด้วยเช่นกัน