นายกฯ เดินหน้าเร่งพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หวังดันไทยเป็นฮับด้านการบิน

ผู้ชมทั้งหมด 665 

นายกฯ เดินหน้าเร่งพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ รองรับการท่องเที่ยว ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หนุนไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินภูมิภาค มั่นใจเปิด SAT1 เสริมประสิทธิภาพสนามบินสุวรรณภูมิพร้อมรับผู้โดยสารเติบโต ด้าน “สุริยะ” โวสนามบินสุวรรณภูมิเกิดได้เพราะนโยบาย “ทักษิณ” สมัย “ไทยรักไทย”       

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ AOT จัดพิธีเปิดให้บริการแบบ Soft Opening อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยธรรม พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อํานวยการใหญ่ AOT นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อํานวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ณ อาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้น เศรษฐกิจระยะสั้น พร้อมกับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต​ของประชาชนให้ดีขึ้น ​รายได้จากการท่องเที่ยวสามารถกระจายสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 นั้นจะช่วยให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรองรับผู้โดยสาร และเที่ยวบิน พร้อมกันนี้ตนก็ขอฝากผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดช่วยบริหารท่าอากาศยานไม่ให้ติดขัด เพราะจะทำให้เกิดศักยภาพ และประโยชน์กับทุกภาคส่วนทั้งผู้ใช้บริการและสายการบิน ซึ่งการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังช่วยให้มีประสิทธิภาพในการรองรับการค้า การลงทุนได้เป็นอย่างมากในระยะยาว รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค (ฮับการบิน) ในระยะเวลาอันใกล้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นดำเนินการมาตั้งแต่สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2545 ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2549 ณ ตอนนั้นเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

ส่วนการก่อสร้างอาคาร SAT-1 ก็สามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ในขณะเดียวกันในปัจจุบัน ทอท. ก็อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2567 จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในการรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากปัจจุบันที่มีรันเวย์ 2 เส้นสามารถรองรับได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังมีแผนที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสาร ดังนั้นตนเชื่อมั่นว่าการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะสามารถยกระดับให้เป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาคได้

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อํานวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า อาคาร SAT-1 พร้อมเปิดต้อนรับ นักเดินทางจากทั่วโลกด้วยบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยระดับมาตรฐานสากล ยกระดับขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสู่การเป็นท่าอากาศยานชั้นนําระดับโลกและรองรับการเป็นฮับการบินของภูมิภาค โดยในสัปดาห์แรกที่เปิดให้บริการจะมี สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ให้บริการวันละประมาณ 14 เที่ยวบิน และสายการบินไทยเวียตเจ็ทจะให้บริการวันละ ประมาณ 4 เที่ยวบิน และจะเพิ่มจํานวนเที่ยวบินและสายการบินจนเต็มศักยภาพภายในปลายปี 2566

อาคาร SAT-1 ได้มีการนําเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้บริการกับนักท่องเที่ยว อาทิ รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) โดย AOT ให้ความสําคัญในเรื่องระดับการให้บริการ (Level of Service) เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยมากที่สุด ด้านการตกแต่งภายในอาคารเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย ทั้งยังคํานึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการออกแบบอาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Design) ใช้วัสดุการก่อสร้างที่ดูแลรักษา ได้ง่าย เพื่อช่วยให้ประหยัดพลังงานและเน้นการใช้แสงธรรมชาติ สอดรับกับแผนขับเคลื่อนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ก้าวสู่การเป็นสนามบินรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Airport)

นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยของอาคาร SAT-1 ยังคํานึงถึงการใช้งานของทุกเพศทุกวัยอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) เช่น ห้องนั่งสมาธิ ห้องละหมาดที่แยกระหว่างหญิง-ชาย ห้องแม่และเด็ก (Babycare Room) รวมทั้งมีห้องและพื้นที่ สําหรับเด็กเล่น เก้าอี้พักคอยที่ติดตั้งที่ชาร์จ พร้อมอุปกรณ์เสริมเต้ารับไฟฟ้าช่องเสียบ USB แบบ Universal เป็นต้น

อาคาร SAT-1 มีพื้นที่ใช้สอย ภายในอาคาร 251,400 ตารางเมตร และพื้นที่ลานจอดอากาศยานรวมกว่า 260,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น เชื่อมต่อกับ Main Terminal ด้วยอุโมงค์ใต้ดิน ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ทั้งขาออกและขาเข้าระหว่างประเทศ

สําหรับพื้นที่ลานจอดอากาศยานของอาคาร SAT-1 ประกอบด้วยหลุมจอดประชิดอาคารทั้งหมด 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยานขนาด Code F เช่น A380 และ B747-7 ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด Code E เช่น B747 และ A340 ได้ 20 หลุมจอด มีสะพานเทียบอากาศยาน 64 สะพาน ปัจจุบันอาคาร SAT-1 ได้ผ่านการทดลองปฏิบัติการ ความพร้อมทั้งระบบ มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมตาม เกณฑ์มาตรฐาน พร้อมเข้าปฏิบัติงาน ตลอดจนได้มีการตรวจสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลโดยหน่วยงาน ควบคุมและกํากับดูแลที่เกี่ยวข้อง

ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มุ่งมั่นพัฒนาสนามบินในความรับผิดชอบให้มีความพร้อมให้บริการ ผู้โดยสารด้วยมาตรฐานเหนือระดับ เพื่อส่งมอบประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจ ซึ่งจะช่วยส่งเสริม อุตสาหกรรมการบินการท่องเที่ยวของประเทศให้เติบโต ตลอดจนเป็นการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป