“OR” สนองรัฐร่วมดูแล “ราคาน้ำมัน” ลดค่าครองชีพ มั่นใจปีนี้รักษาเป้ากำไรโต10%  

ผู้ชมทั้งหมด 4,326 

นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้แกนนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกฯคนที่ 30 ของไทย) ที่ประกาศจะดูแลภารค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะต้นทุนราคาพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลนั้น

แน่นอนว่านโยบายดังกล่าวย่อมเกี่ยวข้องโดยตรงกับหัวเรือใหญ่ของกระทรวงพลังงาน ภายใต้แกนนำของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภา จะเร่งแก้ไขปัญหาพลังงานใน 5 ด้าน สำคัญ  ได้แก่ 1.ราคา 2.โครงสร้างและกิจการการใช้บริการ 3.การกำกับดูแลของภาครัฐ 4.การให้สิทธิภาคเอกชนที่ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ และ5.การให้บริการที่ไม่ทั่วถึงและพลังงานทางเลือก

สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศจะดูแลราคาน้ำมันดีเซล ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และเตรียมพร้อมช่วยเหลือคนกลุ่มพิเศษที่ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินนั้น ย่อมเกี่ยวข้องโดยตรงกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ผู้ค้าน้ำมันเบอร์ 1 ของประเทศ

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ระบุว่า โออาร์ เป็นบริษัทลูกของ ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และที่สำคัญน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยโออาร์ เข้าใจนโยบายของภาครัฐที่ต้องการลดภารค่าครองชีพให้กับประชาชน และโออาร์ พร้อมสนับสนุนนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐจะปรับลดราคาน้ำมันและค่าการตลาดลงบ้าง แต่ก็มีผลกระทบกับโออาร์เพียงเล็กน้อย

เนื่องจากปัจจุบัน โออาร์ มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย หากดูจากพอร์ตกำไรจากการดำเนินงานแล้ว การขายปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน “พีทีที สเตชั่น” คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 30% ของกำไรสุทธิ โดยหากเทียบสัดส่วนยอดขายในธุรกิจค้าปลีกผ่านปั๊มน้ำมัน จะมีสัดส่วน ยอดขายคิดเป็น 55 % ของธุรกิจ mobility ที่เหลืออีก 45 % เป็นการค้าน้ำมันอื่นๆ ได้แก่ การค้าน้ำมันเครื่อง,เครื่องบิน(Jet), เดินเรือ, อุตสาหกรรม ,ราชการ ,แอลพีจี และผลิตภัณฑ์พิเศษ เช่น ยางมะตอย โดยธุรกิจของโออาร์มี 4 ด้าน คือ Mobility, Lifestyle, Global และ Innovation

“พีทีที สเตชั่น เป็นเพียงธุรกิจหนึ่งของโออาร์เท่านั้น จึงไม่อยากให้นักลงทุนโฟกัสไปที่ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันอย่างเดียว เพราะยังมีอีกหลายธุรกิจ หลายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับผลกระทบ และพอร์ตธุรกิจอื่นๆก็เติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งโออาร์ยังเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศด้วย”

กรณีภาครัฐกำหนดค่าการตลาดน้ำมันไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร ที่ผ่านมา การขายปลีกน้ำมันของโออาร์ผ่านปั๊ม จะรักษาค่าการตลาด เฉลี่ยอยู่ที่ 1.60-1.70 บาทต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ ส่วนตัวเลขค่าการตลาดที่อ้างอิงในเวปไซต์ ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ซึ่งแตกต่างจากการคำนวณของผู้ค้าน้ำมัน เนื่องจากมีการอ้างอิงการคำนวนที่แตกต่างกัน  โดยของผู้ค้าน้ำมันคำนวณจากต้นทุนจริงที่ซื้อจากโรงกลั่นฯ ด้วยค่ากำมะถันไม่เกิน 50 ppm (ยูโร 4 ) แต่ของ สนพ.เป็นการคำนวณจากค่าเฉลี่ยของน้ำมันที่ตลาดสิงคโปร์ ที่ไม่มีราคา 50ppm  โดยอ้างอิงค่าเฉลี่ยน้ำมัน 500 ppm และ 10 ppm (ยูโร 5)  ทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยของ สนพ.สูงว่าเอกชน ราว 1.20-1.30 บาทต่อลิตร เช่น ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินของ สนพอ้างอิงที่สูงถึง 3.10-3.30 บาทต่อลิตร แต่ในส่วนของผู้ค้าน้ำมันจะอยู่ที่ 1.90-2.00 บาท ขณะที่ค่าการตลาดเฉลี่ย ของโออาร์ปีนี้อยู่ที่ 1.60-1.70 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหานี้จะหมดไป เพราะตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.2567 ประเทศไทยได้ประกาซกำหนดใช้น้ำมันที่จำหน่ายในประเทศเป็นมาตรฐาน ยูโร 5 ทำให้ สนพ.และผู้ค้าน้ำมันจะใช้มาตรฐานอ้างอิงเดียวกันที่กำมะถันไม่เกิน 10 ppm

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ถือว่ามีผลกระทบกับ โออาร์ ไม่มากนัก ขณะเดียวกันการอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลดีกับโออาร์ เพราะจะทำให้มี FX gain

ส่วนนโยบายเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปของภาครัฐ  โออาร์ยังคงติดตามดูแนวนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาธุรกิจนำเข้าน้ำมันเป็นเสรีอยู่แล้ว แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานน้ำมันของไทย ซึ่งมีรายละเอียดมาตรฐานที่สูง ส่งผลให้ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นด้วย ขณะเดียวกันจะเห็นว่า ค่ายผู้ค้าน้ำมันต่างชาติอย่างเชลล์ ซึ่งมีโรงกลั่นฯในสิงคโปร์ ยังไม่นำเข้า โดยยังคงซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศไทย ฉะนั้น ก็อาจเป็นสิ่งที่ตรอกย้ำว่า การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอาจไม่ใช่แนวทางที่ช่วยลดต้นทุนราคาขายปลีกน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันกลุ่มเบนซินไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ทางโออาร์ ได้มีการนำเข้าเป็นครั้งคราว และพบว่า มีต้นทุนสูงกว่าการซื้อจากโรงกลั่นฯในประเทศราว 1 บาทต่อลิตร โดยไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่า โออาร์อาจต้องนำเข้าน้ำมันกลุ่มเบนซิน ราว 50 ล้านลิตร เพื่อรองรับภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตและเป็นช่วงไฮซีซั่นของทุกปี

นายดิษทัต มั่นใจว่า ปีนี้ โออาร์ จะสามารถรักษากำไรเติบโตในภาวะปกติเฉลี่ยปีละ 10% ได้แม้ว่ารัฐจะควบคุมค่าการตลาดและรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไว้ โดยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่ายอดขายน้ำมันยังคงเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมผลประกอบการทั้งปีนี้ ขณะที่ไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัทคาดว่า จะยังสามารถสร้างผลกำไรตามทิศทางที่กำหนด โดยครึ่งแรกของปีนี้ โออาร์ มีกำไร 5,732 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 10,413 ล้านบาท เนื่องจากปีที่ผ่านมามีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่าปกติ จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากเทียบกับบริษัทอื่นๆในธุรกิจเดียวกันก็จะเห็นได้ว่ามีกำไรลดลงในทิศทางเดียวกัน แต่ โออาร์ ยังเติบโตแข็งแกร่งรักษาระดับกำไรได้ดี

นอกจากนี้ ในส่วนของยอดขายน้ำมันอากาศยาน(Jet) ของโออาร์ ปีนี้ขยายตัว 60% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,200 ล้านลิตร ขณะที่ปี 2567 คาดว่ายอดขายจะฟื้นตัวเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ประมาณ 4,000 ล้านลิตร อีกทั้งคาดว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน – คาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 จะช่วยทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก และส่งผลดีต่อยอดขายน้ำมัน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆของโออาร์เติบโตเพิ่มขึ้น