ผู้ชมทั้งหมด 532
SPCG คาดรายได้รวมปี 2566 โตกว่าปี 2565 หลังธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป ติดตั้งกว่า 100 เมกะวัตต์ โกยรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาทแล้ว ขณะเดียวกันกระตุ้นรัฐ เร่งปลดล็อกขอใบอนุญาติติดตั้งโซลาร์ หวังดันโปรเจ็คโซลาร์ฟาร์ม 500 เมกะวัตต์ในEEC หวังบุ๊กรายได้ 2,000 ล้านบาท พร้อมประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 จับมือ INNOPOWER “ซื้อขาย” ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน REC
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” ผู้บุกเบิกและผู้นำธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทยและอาเซียน เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่า รายได้จะเติบโตกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,471 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ของบริษัทลูก SPR ทะลุ 1,000 ล้านบาทตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยปีนี้โซลาร์รูฟท็อป ติดตั้งไปแล้วกว่า 120 เมกะวัตต์ รวมถึงทยอยรับรู้รายได้จากโครงการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น
ส่วนความคืบหน้าโครงการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่EEC ปัจจุบัน อยู่ระหว่างรอการอนุมัติออกใบอนุญาติจากสำนักงานEEC ซึ่งมีใบอนุญาติที่เกี่ยวข้องประมาณ 5-6 ใบ โดยหากได้รับใบอนุญาติแล้ว ก็จะสามารถเดินหน้าติดตั้งโซลาร์ฯ เฟสแรก 300 เมกะวัตต์ ได้ ใช้เงินลงทุนราว 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท และติดตั้งเฟสที่ 2 อีก 200 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ทั้งโครงการรวมเป็น 2,000 ล้านบาทซึ่งปัจจุบัน บริษัทได้จัดซื้อที่ดินแล้ว 3,000 ไร่ กระจายในพื้นที่ 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี,ระยอง)มูลค่าราว 3,000 ล้านบาท และถมที่เพื่อเตรียมพร้อมการก่อสร้างแล้ว เหลือเพียงรอรับใบอนุญาติจากEEC เท่านั้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ล่าช้ามาเกือบ 3 ปี หากรัฐเร่งส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และช่วยให้รัฐบรรลุเป้าหมายสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในEEC ราว 2-3 ล้านล้านบาท
“เราคาดหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเร่งปลดล็อกช่องว่างการขอใบอนุญาติก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฯ ที่ปัจจุบันต้องให้เวลาเกือบ 2 ปี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน และภาคธุรกิจเข้าถึงพลังงายสะอาดได้ง่ายขึ้น และลดการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น”
ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงาน มีนโยบายปรับลดค่าไฟฟ้า เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท ขณะเดียวกันถือเป็นข่าวดีที่ช่วยลดภาระให้กับภาคประชาชนและภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม แต่การแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าระยะยาวจะต้องไปปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสม
วันนี้(20 ก.ย.2566) SPCG ยังประกาศเจตนารมณ์เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ภายในปีพ.ศ. 2573 พร้อมลงนามข้อตกลงสัญญาให้บริการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ร่วมกับนายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์จำกัด “INNOPOWER” บริษัทในเครือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงาน
ดร.วันดี กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วม “ความตกลงปารีส” หรือ “Paris Agreement” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 โดยประเทศไทยได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ซึ่งกำหนดเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีพ.ศ. 2593 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 รวมทั้งได้ยกระดับเป้าหมายNational Determined Contribution หรือ NDC โดยเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปีพ.ศ. 2573
SPCG ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดอีกทั้งยังตั้งปณิธานในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดด้วยโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 36 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ ธุรกิจของเราจึงไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และไม่มีการปลดปล่อยของเสีย ทำให้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่า 200,000 ตันต่อปีซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน
โดย SPRC ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงสัญญาซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ร่วมกับนายอธิป ตันติวรวงศ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์จำกัด “INNOPOWER” บริษัทในเครือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงาน โดย INNOPOWER จะเป็นผู้แทนในการบริหารจัดการและซื้อขายเเลกเปลี่ยน REC ในระยะเวลา 5 ปีโดย SPCG คาดว่าโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือ Solar Farm ทั้ง 36 โครงการในประเทศไทย รวมกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ของบริษัทนั้น จะสามารถออก REC ได้ประมาณ 370,000 RECs ต่อปี คาดว่าจะเริ่มการซื้อขายได้ไตรมาส4 ปีนี้
“SPCG มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ INNOPOWER โดยการร่วมมือดังกล่าวนั้น มีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมการใช้และการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) และขอเชิญชวนทุกท่านให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาโลกของเรา เพื่อส่งผ่านไปยังลูกหลานของเราในอนาคตต่อไป” ดร.วันดี กล่าว
ด้านนายอธิป ระบุว่า หากพูดถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคพลังงานคงจะเป็นอันดับแรกๆ ที่ทุกคนอาจนึกถึงไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม บ้านเรือน หรือแม้กระทั้งการเดินทาง ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สิ่งหนึ่งที่เป็นภารกิจของ INNOPOWER คือการค้นหาเทคโนโลยีที่จะทำให้การใช้ชีวิตของเราทุกคนเป็นไปได้อย่างปกติแต่ในขณะเดียวกันต้องทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลง รวมทั้งทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้องมีการกล่าวถึงเรื่องของพลังงานทดแทนอย่างแน่นอน เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก INNOPOWER จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดผ่านธุรกิจการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน(I-RECs) นอกจากนั้น INNOPOWER ยังเสาะแสวงหาเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมถึง ในอนาคตจะมีการเฟ้นหานวัตกรรมต่างๆ ในการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ INNOPOWER ในการให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมความยั่งยืนในธุรกิจและเดินหน้าต่อยอดธุรกิจพลังงานสีเขียว เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ด้วยเช่นกัน