กรมธุรกิจพลังงาน เยี่ยมชมโรงงานผลิตเอทานอล บีบีจีไอ ผลักดันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

ผู้ชมทั้งหมด 372 

กรมธุรกิจพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดกาญจบุรี เยี่ยมชมโรงงานผลิตเอทานอล บีบีจีไอ ผลักดันการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตเอทานอล บริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง มีกำลังการผลิต 300,000 ลิตรต่อวัน ใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตจากกากน้ำตาล  โดยได้เยี่ยมชมตั้งแต่คลังจัดเก็บวัตถุดิบหลัก ตลอดจนกระบวนการหมัก กระบวนการกลั่น และการควบคุมคุณภาพการผลิตเอทานอล ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานทดแทนสำหรับน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์แล้ว เกษตรกรก็ได้รับประโยชน์จากการขายอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลก็ได้ขายกากน้ำตาลให้โรงงานผลิตเอทานอลต่อไป               

นางพัทธ์ธีรา เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอล 28 โรงมีกำลังการผลิตเอทานอลรวม 6.72 ล้านลิตรต่อวัน มีปริมาณการใช้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2566 (ม.ค.-ส.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ 3.6 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน เป็นผลสำคัญมาจากปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ E85 ที่ลดลงเนื่องจากไม่มีการอุดหนุนราคาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงส่งผลให้การใช้เอทานอลในภาคขนส่งลดลง สำหรับทิศทางในระยะยาวตาม (ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2566-2570 (Oil Plan 2023) กรมธุรกิจพลังงานได้คาดการณ์ว่า เอทานอลในภาคขนส่งจะมีปริมาณการใช้สูงสุดที่ 6 ล้านลิตรต่อวัน และจะเริ่มลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาทดแทนการใช้รถยนต์สันดาปภายใน โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล  ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบในระยะ 10 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ตาม (ร่าง) แผน Oil Plan 2023 กรมธุรกิจพลังงานจึงได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยมีการพิจารณาโอกาสและทิศทางของเชื้อเพลิงชนิดใหม่ร่วมกับ (ร่าง) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2566-2570 (AEDP 2023) ดำเนินการโดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่มีความเห็นร่วมกันว่า เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ถือเป็นพลังงานสะอาดชนิดใหม่ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการบิน ประกอบกับประเทศไทยมีศักยภาพวัตถุดิบทางการเกษตรหลากหลายและเพียงพอ ในขณะที่เทคโนโลยีการผลิต SAF ด้วยวิธี Alcohol to Jet (AtJ) ที่ใช้วัตถุดิบประเภทที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบหลัก หรือ Alcohol-based Feedstock ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความพร้อมในเชิงพาณิชย์ และสามารถผสม SAF ลงในน้ำมัน Jet A1 ได้สูงสุดถึงร้อยละ 50 ในขณะที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบสำหรับเทคโนโลยี AtJ เช่น กากน้ำตาล และน้ำอ้อย ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานในระยะยาวต่อไป