ผู้ชมทั้งหมด 18,713
ขร. ไม่สิ้นหวังเดินหน้าเริ่มต้นใหม่ยื่นเสนอ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พิจารณาในสภาฯ หลังหลุดไทม์ไลน์ 60 วัน คาดใช้เวลาอีก 1 ปี จากเดิมกำหนดประกาศใช้ภายในปี 66
วันนี้ (28 ส.ค. 66) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) ครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการ และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการจัดทำใบอนุญาตการขนส่งทางราง โดยมีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานสัมมนา ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
ดร. พิเชฐฯ กล่าวว่า โครงการศึกษาออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออก ใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) นั้นจะเป็นกฎหมายลูกของร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่กรมรางได้ศึกษาเตรียมความพร้อมในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. ….ก่อนหน้านั้นผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 ไปแล้ว แต่มีการยุบสภาไปก่อน ซึ่งตามรัฐมนูญปี 2560 สามารถนำ พ.ร.บ.ที่ค้างไว้จากการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลเดิมกลับมาเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ภายใน 60 วันนับจากเปิดสมัยประชุมสภานัดแรกเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการไม่ทัน เนื่องจากในวันที่ 2 ก.ย. 2566 ก็จะครบกำหนด 60 วันแล้ว ก็จะทำให้ดำเนินการไม่ทันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ดังนั้นกรมการขนส่งทางรางต้องเริ่มดำเนินการในขั้นตอนใหม่ โดยเริ่มจากการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาในร่างรายละเอียดข้อกฏหมาย เมื่อผ่านก็จะต้องนำเสนอ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมชุมสภาผู้แทนราษฎร เริ่มในวาระ 1 ใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้การประกาศบังคับใช้พ.ร.บ. ขนส่งทางรางฯ ล่าช้าออกไป 1 ปี หลังจากคาดว่ามีกำหนดบังคับใช้ภายในปี 2566 อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ก็อาจจะเรียกผู้ประกอบการเดินรถไฟ รถไฟฟ้ามาหารือต่อเนื่องในรายละเอียดกฎหมายลูก 82 ฉบับ
ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบกิจการของรัฐ ผู้รับสัมปทานหรือสัญญาจำนวน 8 ราย มีพนักงานขับรถไฟ และรถไฟฟ้าประมาณ 2,236 คน มีรถขนส่งทางรางประมาณ 10,266 คัน ซึ่งตัวเลขจำนวนพนักงานขับและตัวรถนั้นไม่เพียงพอต่อการให้บริการในปัจจุบัน และในอนาคตจะยิ่งต้องการมากขึ้นอีก เพราะจะมีประชาชนให้มาใช้บริการมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มรถขนส่งทางรางและบุคลากร แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารและการกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการออกใบอนุญาตประเภทต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกำหนดมาตรฐานเบื้องต้นในระบบราง
สำหรับการสอบใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผู้ประกอบการสามารถนำรายชื่อพนักงานที่มีอยู่มายื่นต่อกรมการขนส่งทางรางออกใบอนุญาตได้ทันที่หลังจากประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. โดยในเบื้องต้นมีการกำหนดเกณฑ์การออกใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ขับรถไฟ, เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ OCC ต้องมีอายุขั้นต่ำ 20 ปี กำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาต 2,000 บาท ส่วนใบอนุญาตผู้ประกอบการเดินรถ กำหนดอายุใบอนุญาตไว้ 30 ปี อัตราค่าธรรมเนียม 150,000-300,000 บาท รถขนส่งทางราง/ทะเบียนรถ ตรวจสอบทุก 8 ปี อัตราค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่มีพนักงานขับรถไฟ รถไฟฟ้าที่แจ้งไว้ในระบบอยู่แล้วสามารถส่งรายชื่อให้กับทางกรมการขนส่งทางรางออกใบอนุญาตได้ทันทีไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่หลังจากใบอนุญาตขับรถไฟ รถไฟฟ้า หมดอายุใน 5 ปี ถึงจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการต่ออายุใบอนุญาตอีก 5 ปี
ขณะเดียวกันยังได้กำหนดแนวทางการจัดทำใบอนุญาตในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้มีการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรมและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากที่สุด
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) จะทำให้กรมสามารถรวบรวมฐานข้อมูลผู้ที่มีศักยภาพ รถที่มีมาตรฐาน และอนาคตเมื่อมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ก็สามารถมีบุคลากรหรือรถพร้อมทำงานในระบบราง และการออกใบอนุญาตขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล เป็นหนึ่งในแผนงานของกรมการขนส่งทางราง ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีความทันสมัย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางต่อไป