ผู้ชมทั้งหมด 12,991
สกพอ. ขยายเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ต่อเนื่อง พร้อมเสริมบทบาทสตรีเชื่อมโยงประโยชน์การพัฒนา อีอีซี สู่ชุมชนในทุกมิติ
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นประธานกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามแผนผัง อีอีซี หรือ พลังสตรี อีอีซี พร้อมบรรยายความคืบหน้า อีอีซี และมอบแนวทางเกี่ยวกับบทบาทพลังสตรี อีอีซี เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน โดยมีนางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและมอบทิศทางการพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อรองรับการพัฒนา อีอีซี และนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชนและสายงานเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร อีอีซี เป็นประธานมอบเกียตริบัตรแก่เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนประมาณ 200 คน ณ โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท จังหวัดฉะเชิงเทรา
ดร.จุฬา กล่าวว่า อีอีซี ได้ดำเนินการพลังสตรี อีอีซี ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อให้กลุ่มสตรีใน อีอีซี มีส่วนร่วมและเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ อีอีซี และร่วมเป็นพลังเครือข่ายในการดูแลและเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ที่ดินใน อีอีซี ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี และการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยมีพลังสตรี อีอีซี ใน 3 จังหวัด ประมาณ 600 คน สำหรับในปีนี้มีเป้าหมายขยายเครือข่ายให้เพิ่มมากขึ้นครอบคลุมทุกตำบล และเพิ่มบทบาทให้พลังสตรี อีอีซี เป็นกลไกหลักของ อีอีซี ในการเชื่อมโยงประโยชน์ของการพัฒนา อีอีซี ไปสู่ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้าชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดและการกระจายรายได้ การยกระดับชุมชนไปสู่ชุมชน Low Carbon เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
ด้าน นางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่าจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดแรกของ อีอีซี ที่เชื่อมต่อจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายให้เป็นเมืองน่าอยู่ รองรับการขยายตัวจากกรุงเทพ โดยจังหวัดได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาระยะ 5 ปี (2566-2570) ต้องการเป็น “เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน พัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ” ต้องการพัฒนาจังหวัดให้มีความเจริญ แต่ต้องควบคู่กับการสร้างความสมดุลของพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนจากเมืองผ่าน ให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและผู้ที่จะมาอยู่อาศัย เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่อย่างยั่งยืนเนื่องจากฉะเชิงเทรามีศักยภาพ
นอกจากนี้ นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ ได้เน้นย้ำบทบาทของพลังสตรี อีอีซี ว่าเป็นพลังสำคัญในการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องและความคืบหน้า อีอีซี ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการพัฒนา เป็นพลังในการเฝ้าระวังติดตามไม่ให้มีการใช้ที่ดินผิดจากข้อกำหนดในแผนผัง อีอีซี และดูแลสิ่งแวดล้อม โดย อีอีซี จะดึงเครือข่ายความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ มาสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน และขอให้ชุมชนที่มีความเข้มแข็งสนับสนุนชุมชนที่เป็นต้นน้ำเพื่อให้เติบโตไปด้วยกัน โดยหลังจากนี้ประธานเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ทั้ง 3 จังหวัด จะนำประโยชน์ที่ได้จากการประชุมฯ ไปจัดกิจกรรมขยายเครือข่ายในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ได้โครงการที่ตรงกับความต้องการและศักยภาพของพื้นที่ต่อไป
การประชุมฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 19 สิงหาคม 2566 โดยมีวิทยากรจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ความรู้เกี่ยวกับแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี และความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองรวมระดับอำเภอ และวิทยากรจากองค์การบริการจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการ Carbon Credit เพื่อใช้เป็นแนวทางในการโครงการชุมชน Low Carbon รวมถึงจัด Workshop การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การสร้าง Brand และแนวทางการขยายตลาด รวมถึงการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนใน อีอีซี ที่ประสบความสำเร็จ เช่น ซอสทัย ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา