OR ผนึก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พัฒนาพื้นที่ป่า กักเก็บคาร์บอนฯ ลดโลกร้อน

ผู้ชมทั้งหมด 1,060 

OR ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยเครือข่ายโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพป่าให้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ผ่านการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนดูแลรักษาป่า ร่วมกับการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน โดย OR ได้เข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยดำเนินการในพื้นที่ป่าชุมชนรวม 8,100 ไร่

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยเครือข่ายโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีนายวิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 14 องค์กร ร่วมแสดงเจตนารมณ์และเสวนาในหัวข้อ นโยบายของภาคเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายวิศน เปิดเผยว่า OR ได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพันธมิตรทั้ง 14 องค์กร ในดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพป่าให้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ผ่านการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนดูแลรักษาป่าร่วมกับการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน โดยในปี 2566 OR ได้เข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากพื้นที่ป่าชุมชน รวม 8,100 ไร่ ภายใต้การดำเนินโครงการหลัก พื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 100,000 ไร่  เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้บรรลุตามเป้าหมายการปลูกป่าร่วมกับกลุ่ม ปตท. จำนวน 2 ล้านไร่อีกด้วย

ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR’s SDG หรือ SDG ในแบบของ OR ที่จะตอบโจทย์เป้าหมาย “G” หรือ “GREEN” ที่มุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) ในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutrality) ภายในปี 2030 อันจะนำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Carbon Zero) ในปี 2050 ต่อไป