ก.คลังจับมือส.อ.ท.หนุนสินค้าเครื่องหมายMade in Thailand

ผู้ชมทั้งหมด 905 

ก.คลังจับมือส.อ.ท.สนับสนุนสินค้าที่ได้เครื่องหมาย Made in Thailand ผ่านการบังคับใช้กฎกระทรวง กำหนดหน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่า 60% ช่วยเสริมความแข็งแกร่งผู้ประกอบการไทย หวังดึงต่างชาติย้ายฐานการผลิต มั่นใจเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันด้านการตลาดในประเทศได้  จึงได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการผลักดันนโยบาย “Made in Thailand” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน หันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาอนุมัติกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามประกาศเป็นกฎกระทรวงที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 8  ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้นโยบายการส่งเสริมสินค้าภายใต้เครื่องหมายมาตรฐาน Made in Thailand นั้นจะเป็นการบังคับใช้กฎกระทรวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) ไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ และในส่วนของงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่า หรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น

อย่างไรก็ตามสำหรับการส่งเสริมการใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายมาตรฐาน Made in Thailand นั้นตนมั่นใจว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการและห่วงโซ่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME เข้มแข็งขึ้น จากยอดการซื้อจากภาครัฐ ซึ่งในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการยกระดับเสริมศักยภาพการแข่งขันและลดภาระด้านการเงินที่ต้องนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลักดันให้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยได้รับรองเครื่องหมาย Made in Thailand  พร้อมกับการบังคับใช้กฎกระทรวงในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยที่ได้เครื่องหมาย  Made in Thailand  นั้นก็จะเป็นการกระจายเม็ดเงินสู่ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาล ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 60,000 โรง รวมทั้งกลุ่ม SME ที่เป็นซัพพลายเชนอีกเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเชื่อมโยงไปยังแรงงานอีกกว่า 5 ล้านคน มีโอกาสเพิ่มรายได้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำเม็ดเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ พร้อมฟื้นฟูภาระหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 ที่ผ่านมา ซึ่งภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างความยืดหยุ่น โดยลดการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าและหันมาพัฒนาและสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมการผลิตที่สามารถสร้างสายการผลิตและมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นภายในประเทศ

ทั้งนี้การบังคับใช้กฎกระทรวงในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้ามาตรฐานเครื่องหมาย Made in Thailand นั้นไม่ได้ปิดกั้นผลิตภัณฑ์สินค้าของผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งสามารถยื่นสมัครของใบรับรองมาตรฐานเครื่องหมาย Made in Thailand ด้วยเช่นกัน แต่ต้องเป็นสินค้าที่มีฐานการผลิต หรือ โรงงานผลิตในประเทศไทย โดยจากการบังคับจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ได้ใบรับรองมาตรฐานเครื่องหมาย Made in Thailand นั้นในระยะ 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างประเทศย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าที่ใบรับรองมาตรฐานเครื่องหมาย Made in Thailand แล้ว 800 รายและอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 1,000 ราย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่า โครงการ Made in Thailand จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเพิ่มสัดส่วนให้ได้ตามที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้เกิดการหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และยังทำให้ธุรกิจของคนไทยเข้มแข็งมากขึ้น

นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น  เพราะสินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย Made in Thailand จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการทำตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอขึ้นทะเบียนรับรองสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ Made in Thailand และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  https://www.mit.fti.or.th หรือสอบถามได้ที่สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 02-345-1100