ผู้ชมทั้งหมด 374
“การบินไทย” “เตอร์กิชแอร์ไลน์ส” ลงนามบันทึกความเข้าใจศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการเที่ยวบินในลักษณะ Joint Venture Operations
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นครอิสตันบูล นับเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งทำให้เตอร์กิชแอร์ไลน์ส มีความได้เปรียบในการให้บริการเที่ยวบินเชื่อมต่อไปยังทวีปยุโรปและแอฟริกา โดยบริษัท การบินไทยฯ จะเริ่มทำการบินไปยังนครอิสตันบูล ในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อิสตันบูล ทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน ในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อยกระดับการเป็นสายการบินที่มีจุดเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและออสเตรเลีย ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นการเดินทางระหว่างประเทศไทย (จำนวนประชากร 66 ล้านคน) และประเทศตุรกี (จำนวนประชากร 85 ล้านคน) อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย พร้อมด้วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และฝ่ายบริหารทั้ง 2 สายการบิน ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงแนวทางการยกระดับความร่วมมือในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างกัน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการเที่ยวบินในลักษณะ Joint Venture Operations ในอนาคต
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเสริมสร้างประสิทธิภาพ ในด้านเครือข่ายการบิน และการเชื่อมต่อการเดินทางของทั้งการบินไทยและเตอร์กิชแอร์ไลน์ส ซึ่งผู้โดยสารของทั้ง 2 สายการบินจะสามารถเดินทางระหว่างประเทศไทยและตุรกี รวมทั้งจุดหมายปลายทางอื่นจากทั้งสองประเทศได้อย่างสะดวกสบาย
Bilal Ekşi ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเตอร์กิชแอร์ไลน์ส เปิดเผยว่า ความตกลงครั้งนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างเตอร์กิชแอร์ไลน์สและการบินไทย ซึ่งจะผสานมรดกทางวัฒนธรรมของตุรกีและไทย เชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ภูมิภาค สร้างประสบการณ์เดินทางไร้รอยต่อ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกด้านจุดหมายปลายทาง และการบริการที่หลากหลายให้แก่ผู้โดยสาร ภายใต้เครือข่ายการบินของทั้ง 2 สายการบิน
เตอร์กิชแอร์ไลน์ส หนึ่งในสมาชิกพันธมิตรสายการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2476 ปัจจุบัน มีฝูงบิน 425 ลำ ทำการบินไปยัง 344 จุดบินใน 129 ประเทศ เป็น 291 จุดบินระหว่างประเทศ และ 53 จุดบินในประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ turkishairlines.com รวมทั้ง Facebook, Twitter, YouTube, LinkedIn และ Instagram ของทางสายการบิน