สนข. เตรียมชงรัฐบาลใหม่เคาะโปรเจ็คแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้าน 

ผู้ชมทั้งหมด 16,528 

สนข. เตรียมชงรัฐบาลใหม่เคาะโปรเจ็คแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้าน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกชุมพรและท่าเรือน้ำลึกระนอง เปิดประตูการค้า-เชื่อมขนส่งครบวงจรทุกมุมโลก

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระบทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ว่า สนข.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาดังกล่าวตั้งแต่เดือนมี.ค. 64 ถึง  เดือนก.ย. 66 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งให้ที่ปรึกษาไม่สามารถลงพื้นที่ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง หรือ EHIA ได้ จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาของสัญญาออกไป 1 ปี สิ้นสุดเดือน ก.ย. 67

โดยที่ผ่านมา สนข.ได้คัดเลือกจุดที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณแหลมริ่ว จ.ชุมพร และบริเวณแหลมอ่าวอ่าง จ.ระนอง แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมกระบวนการการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวกการจัดทำรายงาน EHIA ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 1 จะมีขึ้นในวันที่ 18 ส.ค.66 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมอวยชัยแกรนด์ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ส่วนครั้งที่ 2 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมิน พร้อมจัดทำร่างรายงาน EHIA ในช่วงเดือนมี..ค.67 และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในการทบทวนร่างรายงานฯ EHIA  ตามลำดับ

นายปัญญา กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาท่าเรือดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกชุมพรและท่าเรือน้ำลึกระนอง ระยะทางประมาณ 89.35 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วยทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ทางรถไฟ และระบบการขนส่งทางท่อ เป็นทางระดับพื้น ทางยกระดับ และอุโมงค์ในช่วงผ่านพื้นที่ภูเขา ทั้งนี้เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาคและระหว่างทวีปต่างๆของโลก โดยจะช่วยลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา  ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง หลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณช่องแคบมะละกา ซึ่งจะเป็นแนวโน้มจูงใจให้ผู้ประกกอบการขนส่งและนักลงทุนได้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สนข.ได้เตรียมนำเสนอโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวให้รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบในหลักการของโครงการฯแล้ว แต่ไม่ทันเกิดการยุบสภาก่อน ทั้งนี้หากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อย สนข.จะเร่งนำเสนอโครงการฯให้กระทรวงคมนาคมเพื่อให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการทันที หาก ครม.เห็นชอบ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยจัดทำโรดโชว์ดึงนักลงทุนสายการเดินเรือต่างชาติประมาณ 10 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นต้น หลังจากนั้นจะนำข้อเสนอต่างๆ มาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เบื้องต้นคาดว่าน่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการฯได้ในต้นปี 68 และน่าจะลงนามสัญญากับเอกชนได้ในไตรมาส 3 ของปี 68 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการฯระยะแรกได้ ภายในปี 73

นายปัญญา กล่าวอีกว่า เบื้องต้นการประมูลโครงการฯจะเป็น 1 สัญญา และใช้รูปแบบการลงทุน International Bidding โดยให้สิทธิ์เอกชนในไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ลงทุน 100% ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย โดยวงเงินในการลงทุนทั้งโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ มีระยะเวลาในการก่อสร้างรวม 8 ปี โดยมีรูปแบบการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร-ระนอง เป็นพี้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพร-ระนอง และมูลค่าลงทุนเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ โดยระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท และระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท

ด้านการก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 6 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2574 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 12 ล้าน TEU และระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

ขณะที่การก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 4 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2575 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 8 ล้าน TEU ระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 14 ล้าน TEU และระยะที่ 4 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2579 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2581 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

นายปัญญา กล่าวต่อว่า สนข.ยังมีแผนดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นสนข.จะมีการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.SEC พร้อมเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ไปยังสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และจัดทำเอกสารประกวดราคา (อาร์เอฟพี) เพื่อคัดเลือกผู้ลงทุน แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 67 ซึ่งหากการจัดตั้งสำนักงานฯแล้วเสร็จ รวมทั้งร่างพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว สนข.จะส่งมอบโครงการฯให้ทางสำนักงานฯเป็นผู้ดูแลต่อไป