กฟผ. เดินหน้าลุยพัฒนาเทคโนโลยีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงาน

ผู้ชมทั้งหมด 20,787 

กฟผ.พาสื่อมวลชนอัพเดทนวัตกรรมพลังงานสะอาด เรียนรู้เทคโนโลยีไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย เล็งศึกษาผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหิน พัฒนาระบบ CCUS ในพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง โรงไฟฟ้าแม่เมาะ รุกเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำทีม กฟผ. และ สื่อมวลชนสายเศรษฐกิจ พลังงาน และอุตสาหกรรม ศึกษาดูงานแหล่งผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Latrobe Valley Hydrogen Facility โครงการระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ Victorian Big Battery และนวัตกรรมพลังงานจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานภาครัฐ และ หน่วยงานพันธมิตรด้านพลังงาน ระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคม 2566 ณ ประเทศออสเตรเลีย

นายบุญญนิตย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานมีแผนงานมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์สังคมไร้คาร์บอนอย่างยั่งยืนตามนโยบาย 4D1E (Decarbonization, Decentralization, Digitalization, De-regulation, Electrification) ที่สำคัญคือ การสนับสนุนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ทั้งการนำมาเป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือนำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่ผ่านมา กฟผ.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ได้ดำเนินการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน และศึกษาพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. มีเป้าหมายเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานพลังงานเพื่อให้บริการพลังงานสีเขียว โดยมีความร่วมมือที่ดีกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศออสเตรเลีย ที่มีเป้าหมายมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน

Latrobe Valley Hydrogen Facility เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hydrogen Energy Supply Chain (HESC) ที่นำร่องผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินและสารชีวมวล ด้วยขบวนการแปรสภาพเป็นก๊าซ (Gasification) และการกลั่นให้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ (Refining) พร้อมกับขนส่งทางเรือไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่กับกระบวนการดักจับคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) สอดคล้องกับ กฟผ. ที่สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสำเร็จและใช้งานได้จริงตั้งแต่ปี 2559 โดยได้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจน (Wind Hydrogen Hybrid System) จับคู่กับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง ซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 พร้อมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติ ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก คาดนำร่องใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วนร้อยละ 5 ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2574 – 2583 และมีแผนศึกษาการนำถ่านหินมาผลิตไฮโดรเจน (Brown Hydrogen) พร้อมพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization & Storage : CCUS) ในพื้นที่ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ด้าน องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) เป็นหน่วยงานวิจัยทาง วิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีความร่วมมือกับ กฟผ. ในการศึกษาวิจัยระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน ครอบคลุมการออกแบบและความปลอดภัยของระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการศึกษาถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของระบบกักเก็บพลังงาน พร้อมร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทั้งด้านการผลิต การกักเก็บ การขนส่ง รวมถึงการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนดำเนินงานร่วมกันต่อไป

ส่วนของระบบกักเก็บพลังงาน โครงการ Victorian Big Battery ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Neoen ร่วมกับ Tesla และ AusNet Services นับเป็นหนึ่งในโครงการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลียขนาด 300 เมกะวัตต์ ช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า และลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟในรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เช่นเดียวกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ของ กฟผ. ที่ปัจจุบันมีโครงการนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 16 เมกะวัตต์ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี จำนวน 21 เมกะวัตต์ รวม 37 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ช่วยลดความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ รักษาเสถียรภาพในระบบไฟฟ้าและลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบส่ง และโครงการพัฒนาสมาร์ทกริด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนาด 4 เมกะวัตต์ เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน

“กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน พร้อมก้าวสู่ผู้นำด้านพลังงานสีเขียว เพื่ออนาคตพลังงานไทยที่มั่นคง ยกระดับเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน” นายบุญญนิตย์ กล่าว

นายบุญญนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบกักเก็บพลังงานทั่วโลกมี 2 รูปแบบ แบบแรกคือกักเก็บไว้แบตเตอรี่ แบบที่ 2 กักเก็บไว้ในลักษณะของไฮโดรเจน ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัดมีความไม่แน่นอนในการผลิตไฟฟ้า เช่นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 วัน ผลิตไฟฟ้าใช้ได้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง หรือในบางวันที่มีฝนตกก็อาจจะผลิตได้น้อยกว่านี้ พลังงานลมก็เช่นกันประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีศักยภาพมากพอในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ทั่วไป ดั่งนั้นข้อจำกัดในเรื่องนี้สามารถทดแทนด้วยการกักเก็บพลังงาน

ส่วนความต้องการใช้แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานในประเทศไทยนั้นภายหลังจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2023) ประกาศใช้ และมีการลงทุนตามแผน PDP 2023 คาดว่าอีกประมาณ 6-7 ปี ข้างหน้าระบบการผลิตไฟฟ้าในประเทศจะมีความต้องการใช้แบตเตอรี่จำนวนมากถึงประมาณ 6,500 เมกะวัตต์ ปั๊มสตอเรจประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมดก็ประมาณ 9,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นคิดว่าแบตเตอรี่ของโลกคงพัฒนาไปไกลมาก การติดตั้งก็จะง่ายขึ้น และมีศักยภาพมากขึ้น