ผู้ชมทั้งหมด 763
AOT แจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอุบัติเหตุบริเวณทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ชี้สาเหตุแผ่นพื้นทางเลื่อนหลุด พร้อมเร่งเปลี่ยนทางเลื่อนใหม่ 14 ตัว ลุยตรวจเช็คทั้งระบบ 6 สนามบิน สร้างความเชื่อมั่นผู้โดยสาร ยันดูแลผู้เสียหายเต็มที่
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุเท้าติดทางเลื่อน บริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4-5 ของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เมื่อเวลาประมาณ 08.21 น.ของวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ซึ่งทีมแพทย์ประจำ ทดม.ได้เข้าดูแลพร้อมนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วนในทันที และ AOT ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอุบัติเหตุบริเวณทางเลื่อนของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศอาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง
โดยในระยะเวลา 22 วันของการดำเนินการ คณะกรรมการฯ ได้จัดการประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ได้แก่ (1) การสอบประวัติทางเลื่อนที่เกิดเหตุ (2) การรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (3) การสำรวจพื้นที่ (4) การตรวจสอบด้านวิศวกรรมเครื่องกล อุปกรณ์ และระบบความปลอดภัย (5) การตรวจสอบข้อมูลจากการให้ถ้อยคำของผู้เกี่ยวข้อง (6) การตรวจสอบการบำรุงรักษาตามสัญญาจ้าง และสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (7) การทดสอบต่างๆ เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน (ถ้ามี) (8) การตั้งสมมติฐาน และ (9) การสรุปสาเหตุ และการถอดบทเรียน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาพยานวัตถุจำนวน 10 รายการ พิจารณาพยานเอกสารจำนวน 23 รายการ และพิจารณาข้อมูลจากการให้ถ้อยคำของผู้เกี่ยวข้องจำนวน 34 ราย ได้ข้อสรุปสาเหตุจากพยานหลักฐานที่ปรากฏข้อเท็จจริง คือ ทางเลื่อนที่เกิดเหตุมีปัญหาที่แผ่นพื้นหลุดออกจากโครงยึดทำให้เกิดช่องว่าง ส่งผลให้ผู้โดยสารหล่นลงไปได้รับบาดเจ็บสาหัส
ดร.กีรติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบและได้ข้อสรุปสาเหตุข้อเท็จจริง คณะกรรมการฯ ได้เสนอแนวทางเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้อุปกรณ์ทางเลื่อนของ ทดม. ได้แก่ การฟื้นฟูความมั่นใจในการใช้อุปกรณ์ โดยการตรวจสอบแผ่นทางเลื่อน โครงสร้างของแผ่นทางเลื่อน ทุกอุปกรณ์ โดยการจ้างหน่วยงานหรือบุคคลที่สาม (Third Party) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อนมาดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยตามมาตรฐาน EN115-2 ใน version ล่าสุด เช่น การติดตั้งตัวตรวจจับกรณีแผ่นทางเลื่อนหายไป การตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ทางเลื่อน เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV ประจำทางเลื่อน รวมถึงจัดให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก (External Audit) ของระบบการบำรุงรักษาของอุปกรณ์เครื่องกลของท่าอากาศยาน เพื่อให้ทราบข้อบกพร่องของการบำรุงรักษาของท่าอากาศยาน ตลอดจนการพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคคลากรและการปรับปรุงคู่มือและขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย
ดร.กีรติ กล่าวว่า ส่วนการดำเนินคดีอาญานั้นต้องเป็นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายว่าจะสามารถดำเนินคดีกับใครบ้าง อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นความบกพร่องของบริษัทผู้รับจ้าง และผู้กำกับสัญญา โดยจะต้องพิจารณาทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายอย่างไร และเมื่อตรวจสอบพบว่ามีความผิดตามกฎหมายก็จะดำเนินการยกเลิกสัญญา ส่วนจะมีการติดแบล็คลิสบริษัทผู้รับจ้างหรือไมก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง
สำหรับการดูแลผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บ คณะผู้บริหาร AOT ได้มีการเข้าเยี่ยมและติดตามกระบวนการรักษาจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด พร้อมรับผิดชอบดูแลค่ารักษาพยาบาล และจะดำเนินการเรื่องค่าชดเชยเยียวยาผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด ซึ่งในกรณีดังกล่าว AOT ได้มีการทำประกันภัยความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สาม โดยสถานที่ที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ คือ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่ง รวมถึงสำนักงานใหญ่ สำนักโครงการและสถานที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของ AOT โดยคุ้มครองค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการบาดเจ็บ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานได้ รวมถึงค่าเสียหายอื่นๆ เป็นต้น
ส่วนการดำเนินการเปลี่ยนทางเลื่อนที่ท่าอากาศยานดอนเมืองนั้นจะตั้งงบประมาณในปี 2567 ในการเปลี่ยนทางเลื่อนจำนวน 14 ตัว จากทั้งหมด 20 ตัว เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีการเปลี่ยนทางเลื่อนมาแล้ว 6 ตัว ซึ่งการดำเนินงานจะต้องเปิดประกวดราคา โดยขั้นตอนการประกวดราคา การจัดซื้อจัดจ้างคาดว่าใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้จะดำเนินการตรวจสอบทางเลื่อนที่ ทดม. อย่างละเอียดอีกครั้งหากพบว่าทางเลื่อนยังมีความปลอดภัยก็จะเปิดให้ใช้บริการก่อน
เรืออากาศเอก ธรรมาวุธ นนทรีย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่า แผ่นพื้นทางเลื่อนที่เกิดเหตุหลุดออกจากโครงยึดทำให้เกิดช่องว่าง ส่งผลให้ขาผู้โดยสารตกลงไป ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งตั้งแต่ปี 2530 ใช้มา 28 ปีแล้วถึงจะมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2558 โดยที่ผ่านมาในรายงานซ่อมบำรุงมีการเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ แต่ไม่ได้ระบุว่ามีการเปลี่ยนแผ่นพื้นและตัวนอตยึดแผ่นพื้นทางเลื่อน นอกจากนี้ยังพบว่าตัวนอตไม่พร้อมใช้งาน โดยนอตหลุดไป 3 ตัว เกลียวไม่มี ไม่มีเซ็นเซอร์ที่ป้องกันในกรณีแผ่นพื้นทางเลื่อนหลุด หรือกรณีนอตหลุด
ทั้งนี้ในการดำเนินการตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 พบว่าผู้ตรวจสอบที่รับรองไม่มีคุณสมบัติตรวจตามข้อกำหนด เพราะเป็นวิศวกรระดับภาคี ไม่ใช่ระดับสามัญตามสัญญาจ้าง และไม่เป็นไปตามที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กำหนด ซึ่งในการตรวจสอบไม่ครบถ้วน โดยไม่มีการตรวจสอบแผ่นทางเลื่อน ดังนั้นคณะกรรมการจะดำเนินการตรวจสอบใหม่ให้ครบทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าเป็น นอต แผ่นทางเลื่อน โครงยึดแผ่นทางเลื่อน และต้องดำเนินการตรวจสอบประจำวันให้การใช้งานได้ครบถ้วน ส่วนการติดตั้งทางเลื่อนใหม่จะต้องดำเนินการติดตั้งระบบเซนเซอร์แผ่นทางเลื่อนทุกตัว
นอกจากนี้คณะกรรมการจะร่วมมือกับวิศวกรรมสถานฯ ในการดำเนินการตำรวจความพร้อมของระบบ ทางเลื่อน ระบบลิฟต์ และบันไดเลื่อน ทั้งหมดของ 6 ท่าอากาศยานของ AOT เพื่อให้เกิดความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสาร