ผู้ชมทั้งหมด 2,128
“หลายบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด และมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านพลังงาน ทั้งการลงทุนรูปแบบเข้าไปซื้อหุ้นหรือกิจในบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ รวมถึงการลงทุนในรูปแบบการคิดค้นพัฒนาขึ้นมาเองจากการลงทุนวิจัย โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ปรับตัว และขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน”
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ผู้นำธุรกิจพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่า การขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน (Smart Energy Solutions for Next Generations) ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ผ่านการลงทุนใน 6 กลุ่มธุรกิจที่อยู่ภายใต้บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด หรือ BANPU NEXT
1.ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ (Renewable Energy Power Plant) เป็นการดำเนินการลงทุนในการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน หรือ โซลาร์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม และยังมองหาโอกาสการลงทุนต่อเนื่องในกลุ่มประเทศดังกล่าว รวมถึงในประเทศที่บ้านปูมีการลงทุนอยู่ในปัจจุบัน ออสเตรเลีย และไตหวัน
สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าของบ้านปู เน็กซ์ฯ ในปัจจุบันแบ่งเป็นกำลังการผลิตในสัดส่วนที่เป็นโซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลมรวมกัน 642 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้รวมโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยหยิน (El Wind Mui Dinh) ขนาดกำลังการผลิต 37.6 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมซอกจาง เฟสที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ที่เวียดนาม
2.ธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับลูกค้ารายย่อย (Renewable Energy Microgeneration Systems) เป็นการให้บริการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป โดยกลุ่มเป้าหมายหลักๆ เป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาลห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยเป็นการให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การออกแบบระบบ การเข้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และสมาร์ทซิตี้โซลูชัน ด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ทันสมัยแบบครบวงจร ซึ่งในปัจจุบันมีกำลังการผลิตโซลาร์รูฟ ท็อปราว 172 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามหากรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียน และโซลาร์รูฟ ท็อปจะมีกำลังการผลิตติดตั้งในมือราว 814 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 1,600 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโซลาร์รูฟ ท็อป 500 เมกะวัตต์ ในปี 68 และโซลาร์ฟาร์มกับพลังงานลม 1,100 เมกะวัตต์ ส่วนความคืบหน้าการลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟ ท็อป พร้อมด้วยระบบสมาร์ทโซลูชั่นให้กับเทศบาลขอนแก่น เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี และเทศบาลภูเก็ต นั้นในส่วนของเทศบาลขอนแก่น เทศบาลเมืองแสนสุขคาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องรูปแบบการลงทุนภายในปีนี้
3.ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าและขนส่งแบบครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ และเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสานเข้าด้วยกัน โดยปัจจุบันได้ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี (Muv mi) ตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกว่า 10 สถานี และมีรถ 100 คัน ตั้งเป้าหมายในปี 64-65 จะมีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,000 คัน และในปี 68 เพิ่มเป็น 5,000 คันรองรับการให้บริการตามสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 250 สถานีเป็นโอกาสในการขยายจุดการให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าผ่านระบบแอพพลิเคชั่นมูฟมีเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังได้ให้บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า FOMM ผ่านแอพพลิเคชั่นฮอปคาร์อีกด้วย ปัจจุบันมีรถให้บริการอยู่ราว 50 คันสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีเพิ่มเป็น 100 คัน ซึ่งในการคิดค่าบริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่คันละ 7,000 บาทต่อเดือน โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็น โรงพยาบาล โรงแรม รีสอร์ท อาคารสำนักงาน หรือหน่วยงานของภาครัฐ เป็นต้น
ส่วนเรือยานยนต์ไฟฟ้าบ้านปูเน็กซ์ อีเฟอร์รี่ นพมัลลี เป็นอีกหนึ่งในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการร่างรูปแบบการลงทุน ล่าสุดได้มีการเปิดตัวไปแล้วจำนวน 1 ลำ โดยในเบื้อต้นจะนำไปวิ่งให้บริการเป็นเรือสำหรับท่องเที่ยวในจ.ภูเก็ต คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ประมาณช่วงต้นเดือน ต.ค. 63 และในปี 64 เตรียมรับมอบเพิ่มอีก 1 ลำจากบริษัท สกุลฎ์ซี จำกัด
อย่างไรก็ตามในอนาคตบริษัทฯ มองถึงศักยภาพว่ามีโอกาสขยายให้บริการได้ถึง 200 ลำสำหรับให้บริการเป็นเรือท่องเที่ยวในภูเก็ต จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ตราว 20 ราย และมีเรือให้บริการราว 2,000 ลำเป็นเรือที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันทั้งหมดก็มีโอกาสที่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้ารองรับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
4.ธุรกิจเอนเนอร์จี เทคโนโลยี แอ็กเซสซอรี่ (Energy Technology Accessories) นำเสนอโซลูชันด้านเทคโนโลยีพลังงานล้ำสมัย สำหรับเป็นทางเลือกในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และสร้าง Ecosystem ด้านการใช้พลังงานสะอาดที่ครบวงจร และมีประสิทธิภาพสูงสุดให้แก่ลูกค้า อาทิ สมาร์ทโพล (Smart Pole) โซลาร์คีออส (Solar Kiosk) และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Stations) โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะเห็นการเติยโตไปควบคู่กับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯ
5.ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System หรือ ESS) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเพื่อให้บริการระบบจัดเก็บพลังงาน เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น การใช้งานร่วมกับระบบโซลาร์เพื่อเป็นแหล่งสำรองไฟฟ้า การใช้งานสำหรับระบบสมาร์ทกริด หรือ ไมโครกริด เพื่อช่วยในการบริหารจัดการได้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
6.ธุรกิจบริหารจัดการระบบการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ (Energy Efficiency หรือ EE) ให้คำปรึกษาด้านการจัดการระบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมตรวจสอบ และวิเคราะห์แนวทางในการลดต้นทุนด้านการใช้พลังงาน