ผู้ชมทั้งหมด 5,421
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ล่าสุดครบรอบ 44 ปีการดำเนินงานในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ก้าวสู่ปีที่ 45 ในปี 2567 ซึ่งผู้บริหารมั่นใจว่าผลการดำเนินงานจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือกลับมาแข็งแกร่งเหมือนกับช่วงก่อนโควิด – 19 เมื่อปี 2562 ทั้งการเติบโตของรายได้และผู้โดยสาร ซึ่งในปี 2566 คาดว่าผู้โดยสารรวมทั้ง 6 ท่าอากาศยานจะกลับมาที่ประมาณ 95 ล้านคนต่อปี และคาดว่าในปี 2567ผู้โดยสารจะกลับมาอยู่ที่ 142 ล้านคนต่อปี และเพิ่มเป็น 200 ล้านคนในปี 2572
ขณะเดียวกันเพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารในอนาคต AOT ก็มีแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) เพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร สู่การยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ของภูมิภาคอาเซียน
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า แผนพัฒนาท่าอากาศยาน 6 แห่งของ AOT ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 ได้เตรียมงบลงทุนราว 1 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ใช้กรอบวงเงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท พื้นที่ 60,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบก่อสร้างเพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแบบฯ แล้วเสร็จในปี 2567 คาดว่าเปิดประกวดราคางานก่อสร้างโยธาในช่วงปลายปี 2567 ส่วนการลงทุนพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันตก (West Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน กรอบวงเงินลงทุนประมาณ 8,000 – 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในช่วงต้นปี 2568
โครงพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 กรอบวงเงินลงทุน 36,829 ล้านบาท อยู่ระหว่างการออกแบบคาดว่าจะออกแบบเสร็จในปี 2567 แล้วเปิดประกวดราคาปลายปี 2567 เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2568 ซึ่งตามแผนงานจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีพื้นที่บริการกว่า 160,000 ตารางเมตร หลังจากนั้นจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 และอาคารผู้โดยสาร 2 ในปัจจุบัน เพื่อให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศรวมพื้นที่กว่า 240,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ ทดม.รองรับผู้โดยสารได้เป็น 50 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงระบบจราจรโดยจะก่อสร้างชานชาลารับ-ส่ง เป็น 6 ช่องจราจร รวมถึงก่อสร้างทางเชื่อมจากทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์เข้าสู่ชานชาลาผู้โดยสารขาออก และก่อสร้างทางขึ้นทางยกระดับฯ จากภายใน ทดม. ตลอดจนก่อสร้างจุดเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วย
การลงทุนขยายท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเป็น 18 ล้านคนต่อปี กรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 10,000 ล้านบาท ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ก็เช่นเดียวกัน เป็นโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเป็น 18 ล้านคนต่อปี กรอบวงเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการนี้คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในช่วงปลายปี 2567 เริ่มดำเนินการก่อสร้างต้นปี 2568 ส่วนท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ จะดำเนินการปรับปรุงโถงพักคอยผู้โดยสารใหม่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มาก
ส่วนท่าอากาศยาน 3 แห่ง กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ ของ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่จะโอนย้ายให้มาอยู่ในความรับผิดชอบของ AOT นั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรอบแรกเห็นชอบในหลักการให้ AOT รับโอนแล้ว ส่วนความคืบหน้าในปัจจุบันต้องรอให้ทั้ง 3 ท่าอากาศยานได้รับใบรับรองท่าอากาศยานสาธารณะก่อน หลังจากได้รับใบรับรองแล้วทาง AOT ก็จะขอมติ ครม.อีกรอบในการโอนสิทธิ์บริหารจัดการให้มาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ AOT ฉนั้นเมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็ต้องเสนอให้ ครม.รัฐบาลใหม่อีกรอบว่ายังให้ดำเนินตามนโยบายเดิมหรือไม่อย่างไร นโยบายยังคงเดิมทาง AOT ก็พร้อมที่จะรับสิทธิ์ในการบริหาร ซึ่งในส่วนของการเตรียมการทั้งในด้านงบประมาณ และด้านบุคลากรก็ได้มีการเจรจากับกรมการท่าอากาศยานแล้ว
อย่างไรก็ตามในอนาคตหาก AOT เข้าบริหารท่าอากาศยานกระบี่ที่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 6.5 ล้านคนต่อปี จะทำให้ขจัดปัญหาความหนาแน่นของปริมาณการจราจรทางอากาศของภาคใต้ รวมไปถึงการเข้าบริหารท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานีจะเป็นการเพิ่มโครงข่ายการบินทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำให้ AOT สามารถบริหารโครงข่ายทางการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ