รถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร พร้อมเดินรถแบบทางคู่ปลายกันยายน 66 นี้

ผู้ชมทั้งหมด 19,375 

กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร เผยโครงสร้างทางแล้วเสร็จ 100% เล็งเดินรถแบบทางคู่ปลายกันยายน 66 นี้

วันนี้ (วันที่ 13  กรกฎาคม 2566) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ที่สถานีคลองวังช้าง สถานีปะทิว สถานีสะพลีและย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) สะพลี สถานีชุมพร รวมถึงโรงรถจักรชุมพร โดยมี ดร.อรรถพล เก่าประเสริฐ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้าง ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง และนายวัชรเกียรติ สุทธิวรรณา ผู้ช่วยวิศวกรโครงการฯ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยกลุ่มที่ปรึกษา CSCS และผู้รับจ้างกลุ่ม STTP Joint Venture (บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม)

รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร มีระยะทางรวม 167 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่เพิ่ม 1 ทาง ขนานเส้นทางรถไฟเดิม ขนาดทางกว้าง 1 เมตร เป็นโครงสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินทั้งหมด ประกอบด้วย สถานีสร้างใหม่ 5 สถานี สถานีอนุรักษ์ 5 สถานี ที่หยุดรถ 5 แห่ง ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) 1 แห่ง ที่สถานีนาผักขวง สะพานรถไฟ 78 แห่ง

รวมถึงก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ (Overpass) 25 แห่ง และถนนกลับรถยกระดับรูปตัวยู (U-Turn) 25 แห่ง มีความก้าวหน้าโดยรวมร้อยละ 93.510 และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย – ชุมพร ระยะทาง 79 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินทั้งหมด ประกอบด้วย สถานีสร้างใหม่ 10 สถานี ที่หยุดรถ 3 แห่ง ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) 1 แห่ง ที่สถานีสะพลี สะพานรถไฟ 68 แห่ง รวมถึงก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ (Overpass) 4 แห่ง ถนนกลับรถยกระดับรูปตัวยู (U-Turn) 13 แห่ง และทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) 16 แห่ง มีความก้าวหน้าโดยรวมร้อยละ 96.523

สำหรับภาพรวมของความคืบหน้างานก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร มีความก้าวหน้างานโยธา 5 สัญญา รวมร้อยละ 96.927 โดยปัจจุบันได้เปิดใช้ทางคู่ ช่วงเขาเต่า-ประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 78 กิโลเมตรแล้ว และ รฟท. อยู่ระหว่างพิจารณาทยอยเปิดการใช้งานเป็นช่วงๆ เริ่มจากสถานีบางเค็มถึงสถานีหนองศาลา ระยะทาง 48 กิโลเมตร ช่วงที่หยุดรถบ้านดอนทรายถึงที่หยุดรถหนองมงคล ระยะทาง 23.77 กิโลเมตรในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 และทยอยเปิดเพิ่มเติมภายในเดือนกันยายน 2566  โดยใช้ระบบเครื่องทางสะดวกและมอบตั๋วทางสะดวก (กรฟ.3) ตามเดิมไปพลางก่อนในระหว่างที่รอติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตามสัญญา 6 ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปประมาณร้อยละ 50

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ พบว่า งานก่อสร้างวางรางรถไฟ (track work) ครบ 100% แล้ว คงเหลืองานสถานีและงานเก็บรายละเอียดอีกเล็กน้อย โดยยังพบปัญหาการเดินข้ามระหว่างอาคารสถานีกับชานชาลาอีกฝั่ง ที่ผู้โดยสารจะต้องเดินไปสุดปลายชานชาลาทั้งสองข้างแล้วลงไปในทางรถไฟเสมอระดับดิน เพื่อเดินข้ามไปยังชานชาลาฝั่งตรงข้าม ทั้งนี้ ขร. ได้แนะนำให้ รฟท. พิจารณาก่อสร้างทางลอดข้ามใต้ทางรถไฟระหว่างชานชาลา หรือสะพานข้าม เพื่อความปลอดภัยด้วยแล้ว ส่วนลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) สะพลีได้ก่อสร้างลานคอนกรีตเสริมเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบันมีเอกชนที่สนใจเริ่มมาใช้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกยางพารา และเมื่อ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาได้มีการขนส่งสินค้าทุเรียนผ่านทางรถไฟเพื่อขนส่งผ่านสปป.ลาวไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยแล้วเช่นกัน ส่วนโรงรถจักรชุมพร ปัจจุบันผิดชอบงานซ่อมบำรุงรถจักร รถโดยสารและสามารถรองรับการซ่อมบำรุงแคร่รถสินค้า (บทต.) และรับผิดชอบจัดพนักงานขับรถไฟและช่างเครื่องทำขบวนช่วงหัวหิน-ชุมทางทุ่งสง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงซ่อมและล้างรถ พร้อมติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนรองรับรถไฟทางคู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รฟท. มีกำหนดแผนเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2 (บางสะพานน้อย-ชุมพร) ภายในปลายปี 2566 โดยทยอยเปิดให้บริการ เริ่มจากสถานีบางสะพานน้อย – สถานีคลองวังช้างระยะทาง 47.1 กิโลเมตร ในเดือนสิงหาคม 2566 ต่อมายังสถานีปะทิว-สถานีบ้านคอกม้า อีก 14.7 กิโลเมตร ในเดือนกันยายน 2566 สถานีสะพลี – สถานีนาชะอัง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร ในเดือนตุลาคม 2566 และเปิดให้บริการสถานีชุมพร 1.8 กิโลเมตร ในเดือนธันวาคม 2566

โดยจะมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ของ รฟท. กับที่ปรึกษาควบคุมงาน ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา 5 สัญญา และผู้รับจ้างก่อสร้างงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมในรายละเอียด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้  โดยเมื่อมีการเดินรถไฟแบบทางคู่แล้ว จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟให้ตรงเวลาและปลอดภัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟของประเทศต่อไป