บีทีเอส แจงโต้รฟม.ปมขัดแย้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ผู้ชมทั้งหมด 803 

บีทีเอส แจงความคืบหน้า การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความไม่เป็นธรรม

นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 บริษัทฯ ได้นำส่งจดหมาย เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ถึงฯพณฯ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

เนื่องมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 จนทำให้ บริษัทฯ จัดทำหนังสือสอบถาม และขอความเป็นธรรมถึงบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งต่อมาบริษัทฯ ก็ยังมิได้รับการชี้แจงในผลการตรวจสอบเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการดำเนินโครงการฯ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 บริษัทฯ ได้ฟ้อง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเพิกถอนการกระทำทางปกครอง และขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติที่เห็นชอบเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอ โดยศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ (รฟม.) ที่แก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่ม เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ทาง (รฟม.) มีหนังสือ ถึงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยแจ้งว่า “คดีปกครองดังกล่าวอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา และยังคงกำหนดการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนตามที่กำหนดไว้ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 คือ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563  และมีกำหนดการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563ตามเดิม” ทำให้บริษัทฯ ร่วมกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการฯ ในกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Join Venture) ตามวันดังกล่าว

ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 (รฟม.) ได้ประกาศในเว็บไซต์ โดยมีใจความว่า”เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาครัฐ (รฟม.) จึงขอยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว” และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีหมายแจ้งว่า รฟม. ได้ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาฯ และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ เท่ากับว่าคำสั่งทุเลาฯ ที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยไว้ รฟม. ไม่ขอโต้แย้ง โดยขณะนั้นคดีอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองกลาง

ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของ รฟม. น่าจะไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากประเด็นข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่าง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กับบริษัทฯ ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งทุกฝ่ายที่เป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นที่สุดเสียก่อนเพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ดังนั้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต่อมา วันที่ 1 มีนาคม 2564 ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและการดำเนินกระบวนการทางอาญาของศาลอาญาคคีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่บริษัทฯ ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ว่าได้กระทำความผิด รฟม. โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใหม่ ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ของ รฟม. มีสาระสำคัญของวิธีการประเมินข้อเสนอ ดังนี้

การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดย รฟม. จะประเมินข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 เป็นคะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30  คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด ซึ่งโดยหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอในข้างต้น เป็นหลักเกณฑ์เดียวกับหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้ รฟม. นำมาใช้บังคับในการคัดเลือกเอกชน โดยศาลปกครองกลางชี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินข้อเสนอในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ และการออกเอกสาร สำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 น่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น จะเห็นได้ว่า ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ.2562 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ โดยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ก็ดี การยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ รวมถึง การเปิดให้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อจัดทำร่างเอกสาร มิอาจกระทำได้เช่นที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของโครงการฯ และความล่าช้าที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากการกระทำของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีมูลเหตุจูงใจที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนทั้ง ๆ ที่กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ร่วมประชุมด้วยได้ทักท้วงแล้วก็ตาม

“บีทีเอส ไม่ต้องการแสดงออกในลักษณะของการโต้แย้งกับหน่วยงานของรัฐผ่านสื่อ เราพยายามร้องขอความเป็นธรรมและดำเนินตามกระบวนการกฎหมายที่มี  แต่จนถึงขณะนี้เราพบว่า มีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้บีทีเอสเกิดความเสียหาย ดังนั้น ในวันนี้เราจึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงความจริงทั้งหมด สิ่งที่ดำเนินการมา และสิ่งที่กำลังดำเนินการต่อไปเพื่อให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง”