“BEM ชูความเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมคมนาคมหลัง MRT สายสีน้ำเงิน ครบรอบ 19 ปี”

ผู้ชมทั้งหมด 329 

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของของประเทศไทยเกิดขึ้นนั้น นับเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการขุดเจาะอุโมงค์ที่มีความลึกจากผิวดินประมาณ 20-30 เมตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งชั้นดินมีความอ่อนนุ่ม แต่จากเทคโนโลยีการก่อสร้างและความรู้ทางด้านวิศวกรรมที่ทันสมัยในขณะนั้นทำให้บริษัทสามารถดำเนินการก่อสร้างจนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

นอกจากความท้าทายในแง่ของการก่อสร้างแล้ว การ Operation & Maintenance ยังเป็นเรื่องใหม่มาก เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกที่ดำเนินงานโดยบุคลากรที่เป็นคนไทยทั้งหมด จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างยิ่ง โดยจัดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เห็นภาพการปฏิบัติงานจริง ตลอดจนสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยในการบริการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมให้บริการผู้โดยสารด้วย ความปลอดภัย รวดเร็ว และเชื่อถือได้

นับตั้งแต่ BEM ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า สายเฉลิมรัชมงคลในปี 2543 ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการเดินรถและผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้าจากต่างประเทศหลายราย เช่น ซีเมนส์ MTRC (HK) ของฮ่องกง และ SMRT ของสิงคโปร์ รวมทั้งที่ปรึกษาอิสระ เช่น Lloyd’s ในการพัฒนาขั้นตอนการดำเนินงานอย่างละเอียด ซึ่งการที่บริษัทนำมาตรฐานระดับสากลมาใช้ในการปฎิบัติงาน ทำให้สามารถพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมที่หลากหลาย รวมทั้งหลักสูตรฝึกอบรมผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน (“Train the Trainer” Training Program) ควบคู่กับกิจกรรมฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันบริษัทยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ  The International Association of Public Transport (UITP) สมาคมการขนส่งระหว่างประเทศ  American Public Transportation Association (APTA) สมาคมขนส่งมวลชนสาธารณะของสหรัฐอเมริกา The Asian Railway Operators Association (AROA) สมาคมสำหรับผู้ดำเนินงานขนส่งระบบรางสายหลัก และในตัวเมืองใหญ่ และ The Community of Metros (COMET) คอมมูนิตี้ของกลุ่มรถไฟใต้ดินหรือระบบขนส่งมวลชนจากหลายเมืองทั่วโลก เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข่าวสาร ข้อมูล และส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ

จากความเชี่ยวชาญเหล่านี้ทำให้ 13 ปีต่อมา หรือในปี 2560  BEM สามารถเปิดให้บริการส่วนต่อขยายของ MRT สายสีน้ำเงิน จากสถานีบางซื่อไปยังรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีเตาปูน และสร้างความท้าทายมากขึ้นไปอีกกับส่วนต่อขยายจากสถานีหัวลำโพงไปยังฝั่งธนบุรีที่สถานีหลักสอง เพราะต้องขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ลึกถึง 40 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  ซึ่งทาง บมจ. ช.การช่าง ผู้ดำเนินการก่อสร้างได้ใช้ “หัวเจาะเจ้าพระยา” ชนิดปรับแรงดันสมดุลเครื่องใหม่นำเข้าจากญี่ปุ่นในการขุดอุโมงค์ และอีกหนึ่งผลงานที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับระบบคมนาคมไทย คือ การนำเทคนิคพิเศษ “Pipe Roof” หรือการก่อสร้างโดยไม่เปิดหน้าดินมาใช้เป็นครั้งแรก เพื่อสร้างสถานีสนามไชยที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งมีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทำให้ไม่เกิดความเสียหายแก่โบราณสถานต่างๆ โดยรอบและยังช่วยลดผลกระทบด้านการจราจรอีกด้วย

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้แล้ว บุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ BEM ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ให้ผู้โดยสารเดินทางได้อย่างปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว เชื่อถือได้ และตรงเวลา จึงนับได้ว่าโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ได้มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของคนในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเกิดจากปัญหาการจราจร  ค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ และปัญหามลพิษทางอากาศ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักการความยั่งยืน

โดยคำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมุ่งประสานประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มเป็นสำคัญ โดยให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ ในอนาคต บริษัทมุ่งมั่นสู่การขยายธุรกิจทั้งระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ตลอดจนธุรกิจทางพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถเป็นผู้ดำเนินการให้บริการขนส่งมวลชนและการคมนาคมชั้นนำในประเทศและระดับภูมิภาคได้ต่อไป” ดร.สมบัติ กล่าว