ผู้ชมทั้งหมด 509
กรมธุรกิจพลังงาน ศึกษาดูงานการบริหารจัดการเชื้อเพลิงการบิน BAFS ตามความก้าวหน้าโครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (SAF) ชูแนวทางทำธุรกิจอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 2050
นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า การมาศึกษาดูงานที่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) ครั้งนี้ เพื่อมาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงการบินและระบบการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยการนำรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า ( EV Hydrant Dispenser ) มาใช้เป็นครั้งแรก และที่สำคัญคือการพัฒนาโครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ Sustainable Aviation Fuel (SAF) เพื่อความยั่งยืนในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของกรมธุรกิจพลังงานในการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืน
ม.ล. ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เปิดเผยว่า กว่า 40 ปีที่ BAFS ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการและการให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ด้วยมาตราฐาน ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งมุ่งมั่นดำเนินกิจการตามแนวทางยั่งยืนโดยคำนึงถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินธุรกิจของ BAFS GROUP ทั้งด้าน Sustainable Energy Logistic ด้วยคลังน้ำมันอากาศยานที่ได้มาตรฐานระดับสากล มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัยและการบริหารจัดการ เพื่อให้ได้น้ำมันอากาศยานที่มีคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อทดแทนการใช้รถขนส่งน้ำมันรูปแบบเดิม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอัตราการสูญเสียน้ำมันที่ระเหยระหว่างการขนย้าย ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งโดยรถยนต์ อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพอุณหภูมิ (Climate Change)
ด้าน Sustainable Energy เป็นประเด็นที่ BAFS ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมีการกำหนดเป็นแผนงานระยะยาว และมุ่งมั่นศึกษาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด BAFS ได้จับมือกับหลายภาคส่วน อาทิ กลุ่มบางจาก กลุ่มมิตรผล ร่วมกันพัฒนาโครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ซึ่งเป็นโครงการสร้างหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานอย่างยั่งยืนจากน้ำมันที่ใช้แล้ว หรือ จากส่วนเกินเหลือใช้ในกระบวนการเกษตรกรรม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero 2050)
ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน เข้ารับฟังการบรรยายกระบวนการจัดเก็บน้ำมันอากาศยานและการตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน ทั้งการรับและเก็บสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานพร้อมทั้งสูบจ่ายน้ำมันไปยังสนามบิน ผ่านระบบ Hydrant Pipeline Network ประสิทธิภาพสูงทำให้น้ำมัน Jet A-1 ถูกควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ก่อนที่จะจ่ายไปยังสนามบิน พร้อมทั้งศึกษาโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำมัน ของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ซึ่งปัจจุบันได้ขยายการให้บริการสู่ภาคเหนือ ผ่านเส้นทาง บางปะอิน-พิจิตร-ลำปาง ซึ่งคาดการณ์ว่าการขนส่งน้ำมันทางท่อสู่ภาคเหนือ แทนการขนส่งทางรถยนต์จะสามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 153,000 Ton CO2 ต่อปี
นอกจากนี้ BAFS ยังได้สาธิตการใช้รถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า ( EV Hydrant Dispenser ) ซึ่งเป็นรถเติมน้ำมันอากาศยาน ที่ทำงานด้วยไฟฟ้าทั้งระบบ 100% ผลิตโดยบริษัท บาฟส์ อินเทค จำกัด โดยปัจจุบันให้บริการแล้วที่สนามบินดอนเมือง โดยได้รับความสนใจจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่ได้ ประสานงานสั่งซื้อเข้ามาเพื่อนำไปให้บริการในสนามบิน อาทิ กัมพูชา มาเลเซีย ตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจของ BAFS ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามวิสัยทัศน์องค์กร “เติมเต็มโลก ด้วยธุรกิจที่ยั่งยืน”