กฟผ. รอความชัดเจนจัดตั้ง “รัฐบาลชุดใหม่” พร้อมร่วมมือลดภาระค่าไฟแพง

ผู้ชมทั้งหมด 17,564 

กฟผ.รอความชัดเจนจัดตั้ง “รัฐบาลชุดใหม่” ก่อนร่วมหาแนวทางเคลียร์หนี้อุ้มส่วนต่างภาระค่าไฟแทนประชาชนเกือบ 2 แสนล้านบาท จ่อนำเข้า Spot LNG ในปีนี้ เผยยังอยู่ระหว่างหารือปริมาณที่เหมาะสม หวังช่วยประเทศลดภาระค่าไฟ

“พรรคก้าวไกล” ได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ จากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่สามารถกวาดเก้าอี้ถล่มทลาย แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังต้องลุ้นต่อว่าสุดท้ายแล้ว พรรคก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะยังมีอุปสรรคอีกหลายด้านที่ต้องเคลียร์ ทั้งกรณีถือหุ้น “ไอทีวี” รวมถึง เสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก (สว.) และการจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะลงตัวหรือไม่

ไม่ว่าโฉมหน้า นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยจะเป็นใคร? แต่หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

โดยภารกิจเร่งด่วนของ “พรรคก้าวไกล” ในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงนั้น เมื่อเร็วๆนี้ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ระบุว่า จะสามารถลดค่าไฟฟ้า งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ลงได้อีกประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 3.90 บาทต่อหน่วย จากแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการที่รัฐบาลเข้าไปบริหารหนี้สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ด้วยการออกพันธบัตรระยะยาว และรัฐบาลจะช่วยจ่ายดอกเบี้ยในส่วนนี้แทน ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ จากปัจจุบันที่ กฟผ.แบกรับภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร(Ft) รวมเกือบ 2 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ระบุว่า กฟผ.เข้าใจถึงนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต้องการทำให้ถูกใจประชาชน ซึ่งปัจจุบัน ก็มีปัญหาค่าไฟฟ้าแพง แต่การแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เท่าที่ติดตามข้อมูลแนวนโยบายบางอย่างก็สามารถดำเนินการได้ บางเรื่องก็ต้องมาหารือร่วมกันก่อนว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

“กฟผ.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มองว่า ขณะนี้ไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมในการที่จะไปออกความคิดเห็นต่างๆ เพราะต้องให้ความเคารพ อีกหหน่อยเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็จะต้องมีการหารือร่วมกันอยู่แล้ว และเท่าที่ดู มีนโยบายส่วนหนึ่งทำได้ แต่อีกส่วนหนึ่งอาจจะต้องคุยกันก่อน”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าไฟฟ้าในงวดสุดท้ายของปีนี้ (รอบบิลเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566) มีแนวโน้มลดลง ตามทิศทางการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงหลังสภาพอากาศที่จะเข้าสู่ฤดูฝน ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มถูกลง และกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทย รวมถึงก๊าซฯนำเข้าจากเมียนมาเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน กฟผ.ยังมีแผนที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ภายในปีนี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานภาครัฐถึงปริมาณการนำเข้าที่เหมาะสม เพื่อนำLNG มาป้อนเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เอง ซึ่งจะช่วยประเทศลดภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้

ทั้งนี้ กฟผ.ถือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper LNG) รายที่ 2 ของประเทศ ต่อจาก ปตท.ที่อดีตเป็นผู้นำเข้าฯเพียงรายเดียว และเมื่อปี 2565  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังมีมติให้ กฟผ. จัดหา Spot LNG จำนวน 2 ลำเรือ เข้ามาในช่วงเดือนเม.ย. – พ.ค.2565 ปริมาณนำเข้าประมาณ 65,000 ตันต่อลำเรือ เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงน้ำมันฯ สำหรับผลิตไฟฟ้าที่ขาดหายไป โดยการจัดหา LNG ของ กฟผ. ในครั้งนั้น นอกจากจะเสริมความมั่นคงของระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถลดจะทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลงประมาณ 500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจก๊าซธรรมชาติและการพัฒนาธุรกิจ LNG ของ กฟผ. ในอนาคตตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ กฟผ. เป็นหนึ่งในผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบันยังมีเพียง ปตท.เท่านั้นที่ได้รับนโยบายจาก กกพ.ให้นำเข้า Spot LNG จากปัจจุบันที่มีผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper LNG) รายใหม่ (ทั้งหมด 7 ราย) เพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ และ กกพ.คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า ปตท.จะนำเข้า LNG ในปีนี้ ประมาณ 96 ลำเรือ หรือ เกือบ 6 ล้านตัน ขณะที่การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 สำหรับปีนี้ ยังคงมีโควตานำเข้าก๊าซ LNG จำนวน 3.02 ล้านตัน